รีวิวชัดๆ โฉนดบ้านและคอนโด มีความหมายอย่างไร?
ทรัพย์สินมีมูลค่าที่ชีวิตนึงๆ ของเราทุกคนพึงจะมี คือ อสังหาริมทรัพย์ หรือ บ้านและที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงนัก เอาแค่พอเหมาะกับรูปแบบชีวิตของเรา และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ก็เพียงพอแล้ว
เอกสารซึ่งบ่งบอกถึงสิทธิในทรัพย์สิน เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ การครอบครองและสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นได้ คือ โฉนดที่ดินและหนังสือกรรมสิทธิ์ของสถานที่นั้นๆ โดยมีชื่อเจ้าของสลักอยู่ด้านหลังโฉนดฉบับนั้น
โฉนดที่ดินบ่งบอกถึงสิทธิในทรัพย์สิน เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ การครอบครอง และการใช้ประโยชน์
อีกทั้ง หนึ่งในสิทธิและหน้าที่ที่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดต้องปฏิบัติตาม คือ การจ่ายภาษี อันเกี่ยวข้องกับโฉนดที่เราถือครองอยู่ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีเงินได้ และอื่นๆ
จะเห็นได้ว่าความสำคัญของเอกสารล้วนเกี่ยวเนื่องกันเป็นทอดๆ เลยใช่มั้ยคะ…
ดังนั้น ในบทความนี้อสังหา 101 จึงขอรีวิวและดูความหมายบนหน้าโฉนดสำหรับที่อยู่อาศัย ฉบับเจ้าของบ้านเจ้าของคอนโดควรรู้ ว่าข้อมูลแต่ละส่วนบนหน้าโฉนด คืออะไรกันบ้างค่ะ
โฉนดบ้านและคอนโดที่เราพบเห็นกันส่วนใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. โฉนดที่ดิน (น.ส.4)
2. โฉนดห้องชุด (อ.ช.2)
ความแตกต่างระหว่างโฉนดทั้ง 2 ประเภท คือ รูปแบบสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่แตกต่างกัน และโฉนดที่ดินอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนโฉนดห้องชุดอยู่ภายใต้ พรบ. อาคารชุด พ.ศ. 2522
เรามาดูทีละประเภทกันเลยค่ะ
ประเภทที่ 1 โฉนดที่ดิน (น.ส.4)
โฉนดที่ดินประเภทนี้ เป็นโฉนดตราครุฑสีแดง สามารถซื้อขาย จำนอง โอนกรรมสิทธิ์ได้ ถือเป็นโฉนดส่วนใหญ่ที่ผู้อยู่อาศัยถือครองกันเกือบทั้งหมดค่ะ เราจะได้รับเมื่อซื้อที่ดินเปล่า บ้าน ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
ส่วนที่ 1 : ข้อมูลสำรวจและอ้างอิงโฉนดที่ดิน
ด้านซ้ายมือ – ระบุตำแหน่งที่ดิน นั่นคือ ระวางที่ดิน (เป็นเลขแผนระวางที่เก็บตำแหน่งที่ดิน) เลขที่ดิน หน้าสำรวจ (ปกติใน 1 อำเภอเลขจะไม่ซ้ำกัน)
ด้านขวามือ – ระบุรายละเอียดของโฉนดที่ดินฉบับนั้น นั่นคือ เลขที่โฉนด เล่มที่เท่าไหร่ หน้าอะไร และที่ตั้งของที่ดินแปลงนั้น ตำบล อำเภอ และจังหวัด
ส่วนที่ 2 : ข้อมูลเจ้าของที่ดินคนแรก
ไม่ต้องแปลกใจว่าเจอชื่อใครในหน้าแรกของโฉนด ซึ่งไม่ใช่ชื่อเราด้วย ขอบอกเลยค่ะ…ว่านั่น คือ ชื่อเจ้าของคนแรกของที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น โดยระบุชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ อย่างชัดเจน
ส่วนที่ 3 : พื้นที่ รูปภาพ และบริเวณที่เกี่ยวข้องของที่ดิน
บรรทัดถัดลงมาจากส่วนที่ 2 จะระบุพื้นที่ของที่ดินแปลงนี้ว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ โดยตั้งค่ามาตรวัดทั้งหมด 3 หน่วย คือ ไร่ งาน และตารางวา หากแปลงใดที่ไม่มีข้อมูล ทางกรมที่ดินจะขีดเครื่องหมาย “-” เพื่อแสดงว่าไม่มีตัวเลขในหน่วยวัดนั้น และระบุมาตราส่วนของรูปภาพที่ดินที่ปรากฎอยู่ช่วงกลางของโฉนดที่ดิน
ส่วนของรูปภาพแปลงที่ดิน ให้เราสังเกตุจุดวงกลมเล็กๆ และมีตัวเลข ตัวหนังสือกำกับไว้ข้างๆ คือ หลักหมุดที่ทางเจ้าหน้าที่รังวัดของสำนักงานที่ดินได้ไปสำรวจและปักหมุดไว้เป็นหลักฐานบนที่ดินจริง
ดังนั้นเวลาที่เราไปซื้อที่ดิน และต้องการรู้ว่าอาณาเขตของที่ดินของเราอยู่บริเวณใด ก็ต้องมองหาหลักหมุดเหล่านี้และลากเส้นเชื่อมระหว่างจุดต่างๆ ก็จะได้ขอบเขตที่ดินของเรา
ส่วนที่ 4 : วันที่ดำเนินการ
เป็นวันที่สำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินฉบับนั้น และลายเซ็นหรือลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน รวมถึงตราประทับของกรมที่ดิน เพื่อแสดงว่าโฉนดที่ดินฉบับนี้ ถูกออกโดยสำนักงานที่ดินอย่างถูกต้อง และเจ้าพนักงานท่านใดเป็นผู้ดำเนินการให้
ส่วนที่ 5: สารบัญจดทะเบียน
ส่วนนี้เป็นสุดท้ายอยู่ด้านหลังโฉนด ซึ่งระบุประวัติข้อมูลการซื้อขายเปลี่ยนมือ แบ่งเป็นตาราง 8 ช่องเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ดังนี้
ช่องที่ 1. จดทะเบียนวัน เดือน ปี คือ วันที่ดำเนินการ
ช่องที่ 2. ประเภทการจดทะเบียน เช่น การขาย การจำนอง การไถ่ถอน การแบ่งที่ดิน การรับมรดก
ช่องที่ 3. ผู้ให้สัญญา คือ ชื่อเจ้าของที่ผู้ขาย หรือผู้จำนอง
ช่องที่ 4. ผู้รับสัญญา คือ ชื่อผู้ซื้อหรือผู้รับจำนอง
ช่องที่ 5. เนื้อที่ตามสัญญา โดยระบุหน่วยไร่ งาน ตารางวา
ช่องที่ 6. เนื้อที่คงเหลือ โดยระบุหน่วยไร่ งาน ตารางวา ใช้กรณีที่มีการแบ่งที่ดินแปลงนี้ออกเป็นแปลงย่อยๆ ในอนาคต
ช่องที่ 7. ระวางหรือโฉนดที่ดินใหม่
ช่องที่ 8. พนักงานเจ้าหน้าที่ ลงลายมือชื่อประทับตรา คือ ชื่อเจ้าพนักงานที่ดำเนินการ
โฉนดบ้านและคอนโด เป็นเอกสารราชการที่มีความสำคัญมาก ใช้ในการทำธุรกรรมซื้อ ขาย และอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ประเภทที่ 2 โฉนดห้องชุด (อ.ช.2)
โฉนดห้องชุดหรือชื่อเรียกที่ถูกต้อง คือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด เป็นโฉนดตราครุฑสีแดง สามารถซื้อขาย จำนอง โอนกรรมสิทธิ์ได้ เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน (น.ส.4) ค่ะ เราจะได้รับเมื่อซื้อบ้านลักษณะอาคารชุด คอนโดมิเนียม
ส่วนที่ 1 : ข้อมูลสำรวจและอ้างอิงโฉนดที่ดิน
ด้านซ้ายมือ – ระบุตำแหน่งที่ดินที่คอนโดนั้นตั้งอยู่ เลขที่ของโฉนดที่ดิน ตำบล อำเภอ จังหวัด และเนื้อที่ของที่ดินแปลงนั้น โดยใช้มาตรวัด 3 หน่วย คือ ไร่ งาน ตารางวา
ด้านขวามือ – ระบุที่ตั้งห้องชุด เลขที่ห้องชุด ชั้น เลขที่อาคาร ชื่ออาคาร และเลขที่ของทะเบียนอาคารชุดนั้นๆ
ส่วนที่ 2 : ข้อมูลเจ้าของที่ดินคนแรก
จะเหมือนกับโฉนดที่ดิน คือ ข้อมูลของเจ้าของคนแรก หรือผู้ที่ขอออกหนังสือกรรมสิทธิ์มือหนึ่ง ส่วนใหญ่คือ Developer ชื่อบริษัทพัฒนาอสังหา สัญชาติ ที่อยู่ ถนน ตรอกซอย แขวง เขต จังหวัด
ส่วนที่ 3 : แผนผังห้องชุด
เป็นรูปภาพแผนผังห้องชุดห้องนั้นๆ โดยมีรายละเอียดของขอบเขตห้องด้านต่างๆ แบ่งเป็น
ส่วนที่ 1. พื้นที่ห้อง
ส่วนที่ 2. พื้นที่ระเบียง
ส่วนที่ 3. พื้นที่วางแอร์ (ถ้ามี พบได้ตามคอนโดระดับสูง หลายห้องนอน แยกพื้นที่วางเครื่อง Compressor Air ชัดเจน)
ทั้งหมดมีหน่วยเป็นตารางเมตร และขีดเส้นแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจน
ส่วนที่เราเห็นเว้าๆ แหว่งๆ หรือบางห้องก็มีสี่เหลี่ยมเล็กๆ อยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งภายในห้อง นั่นคือ ส่วนของเสาและช่องชาร์ป ถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลาง จึงไม่นับเป็นพื้นที่ห้องชุดของเราค่ะ
ส่วนที่ 4 : รายละเอียดพื้นที่และอัตราส่วน
ระบุรายละเอียดของเนื้อที่รวมของห้องชุด หน่วยเป็นตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่จริงที่ซื้อขายกัน และความสูงหน่วยเป็นเมตร
ในบรรทัดถัดมา จะระบุอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางของห้องชุดนั้น ว่าเจ้าของถือครองกี่ส่วนจากจำนวนส่วนทั้งหมด
ปิดท้ายหน้าแรกด้วยวันที่สำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินฉบับนั้น และลายเซ็นหรือลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน รวมถึงตราประทับของกรมที่ดิน เพื่อแสดงว่าโฉนดที่ดินฉบับนี้ ถูกออกโดยสำนักงานที่ดินอย่างถูกต้อง และเจ้าพนักงานท่านใดเป็นผู้ดำเนินการให้
ส่วนที่ 5: สารบัญจดทะเบียน
ส่วนนี้เป็นสุดท้ายอยู่ด้านหลังโฉนด ซึ่งระบุประวัติข้อมูลการซื้อขายเปลี่ยนมือ ต่างกับโฉนดที่ดินตรงที่มีรายละเอียดน้อยกว่า แบ่งเป็นตาราง 5 ช่องเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ดังนี้
ช่องที่ 1. จดทะเบียนวัน เดือน ปี คือ วันที่ดำเนินการ
ช่องที่ 2. ประเภทการจดทะเบียน เช่น การขาย การจำนอง การปลอดจำนอง
ช่องที่ 3. ผู้ให้สัญญา คือ ชื่อเจ้าของที่ผู้ขาย หรือผู้จำนอง
ช่องที่ 4. ผู้รับสัญญา คือ ชื่อผู้ซื้อหรือผู้รับจำนอง
ช่องที่ 5. พนักงานเจ้าหน้าที่ ลงลายมือชื่อประทับตรา คือ ชื่อเจ้าพนักงานที่ดำเนินการ
โฉนดบ้านและคอนโด เป็นเอกสารราชการที่มีความสำคัญมาก ใช้ในการทำธุรกรรมซื้อขาย และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี อย่าให้สูญหาย ฉีกขาด เพื่อความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของเรานะคะ