fbpx

รีวิวเอกสารตรวจดีเฟคคอนโด

4.15 min. Read

การตรวจบ้าน ตรวจคอนโด ตรวจดีเฟค ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ นั้น คือ กระบวนการตรวจสภาพและรับมอบห้องชุดก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ โดยผู้จะซื้อต้องเข้าไปตรวจสอบความเรียบร้อยของห้องชุด หรือ ตรวจดีเฟค หากพบงานใดไม่เรียบร้อย ชำรุด ใช้งานไม่ได้ ทาง Developer หรือเจ้าของโครงการต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อยทั้งหมดก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ในขั้นตอนถัดไป

www.behance.net

แต่ถึงอย่างนั้น การเข้าตรวจห้องชุดก็ไม่ใช่การเดินเข้าไปตรวจเฉยๆ แล้วบอกช่างโครงการให้แก้ไขตามที่เราบอกอย่างเดียวค่ะ แต่กระบวนการนี้ จะมีเอกสารที่เราทั้งสองฝ่าย ระหว่างผู้จะซื้อ (Buyer) และผู้จะขาย (Developer) ต้องลงนามรับมอบห้องชุดกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 

ซึ่งเอกสารดังกล่าวในขั้นตอนนี้ คือ เอกสารตรวจรับห้องชุด (Inspection for Acceptance the Unit) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “Defect Form” 

หากใครเตรียมตัวเข้าตรวจคอนโดครั้งแรก ลองมาทำความรู้จัก ศึกษาและเข้าใจเอกสารชนิดนี้ไปพร้อมกับอสังหา 101 กันค่ะว่าส่วนประกอบของเอกสารตรวจดีเฟคคอนโด มีอะไรบ้าง?

เอกสารยืนยันรายการแก้ไขการตรวจห้องชุด 

เป็นเอกสารหน้าปกแรกของชุดเอกสารทั้งหมดค่ะ มีใจความสำคัญ 3 เรื่องดังนี้

เรื่องที่ 1 รายละเอียดผู้จะซื้อและห้องชุด 

โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดของผู้จะซื้อเจ้าของห้องชุด เช่น ชื่อ นามสกุล เลขที่ห้องชุด ชื่อโครงการ หมายเลขเอกสาร หมายเลขครั้งที่เข้าตรวจ และวันที่เข้ารับการตรวจ

เรื่องที่ 2 ผลการตรวจสอบสภาพห้องชุด

  • กรณีห้องชุดไม่มีงานแก้ไข เอกสารจะระบุกำหนด “วันนัดหมายโอนกรรมสิทธิ์” โดยเจ้าหน้าที่โครงการจะเขียนกำหนดวันที่ให้ชัดเจนลงในเอกสาร
  • กรณีห้องชุดพบงานแก้ไข เอกสารจะระบุกำหนด “วันนัดตรวจครั้งถัดไป” โดยเจ้าหน้าที่โครงการจะเขียนกำหนดวันที่ให้ชัดเจนลงในเอกสาร

เรื่องที่ 3 ข้อตกลงการตรวจรับห้องชุด

โดยจะกล่าวถึงข้อตกลง ว่าด้วยรายการอื่นๆ ในห้องชุด หากไม่ได้ระบุให้แก้ไขในเอกสารนี้ ให้ถือว่าอยู่รายการดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีแล้วในวันที่เข้าตรวจห้องชุด แต่หากพบงานแก้ไขใดๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากเอกสารภายหลังจากนี้ งานดังกล่าวจะได้รับการซ่อมแซม หลังกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ ตามระยะเวลารับประกันห้องชุดเท่านั้น

ดังนั้น แนะนำว่าเราควรตรวจดีเฟคในห้องชุดของเราอย่างละเอียดที่สุด ภายในครั้งแรกที่เข้าตรวจค่ะ เพราะหากแจ้งภายหลัง อาจต้องรอเวลาช่างแก้ไขอีกครั้งหลังวันโอนกรรมสิทธิ์ไปเลย เข้าใจว่าถึงเวลานั้นเราอาจจะไม่สะดวกเปิดห้องชุดแล้วก็เป็นได้ เพราะข้าวของที่ย้ายบ้านมาอาจจะเต็มพื้นที่ ไม่สะดวกต่อการแก้ไขเหมือนห้องโล่งๆ ค่ะ

เอกสารแผ่นนี้ เราต้องเซ็นรับทราบข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่วันเข้าตรวจดีเฟคครั้งแรกค่ะ

Google AdSense

เอกสารรายการแก้ไขภายในห้องชุด

เป็นเอกสารไว้สำหรับจดบันทึกรายละเอียดรายการแก้ไขที่เกิดขึ้นจริงในห้องชุด โดยผู้จะซื้อเป็นผู้ตรวจสอบสภาพห้อง และเจ้าหน้าที่โครงการเป็นผู้จดรายการแก้ไขดังกล่าว โดยข้อความในเอกสารจะแบ่งเป็นห้องๆ เรียงกันไป เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ ระเบียง ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและจดบันทึก

รายงานดังกล่าวจะใช้ควบคู่ไปกับแบบผังห้อง (Unit Layout) และกาตำแหน่งงานแก้ไขที่ถูกพบ

ควรตรวจดีเฟคในห้องชุดของเราอย่างละเอียดที่สุด ภายในครั้งแรกที่เข้าตรวจ

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ Developer แนวหน้าของไทยหลายบริษัท เลือกใช้วิธีการบันทึกรายการแก้ไขหรือตรวจดีเฟค ผ่านการบันทึกข้อมูลทาง Application ในโทรศัพท์ ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็ว อ่านเข้าใจง่าย ส่งต่องานเอกสารได้ทันทีผ่านทางอีเมล์ รวมทั้งยังรองรับการถ่ายรูปภาพดีเฟคประกอบคำบรรยาย และกาตำแหน่งงานบนแบบผังห้อง (Unit Layout) ของห้องนั้นได้ทันที

ในส่วนของการตรวจดีเฟคนั้น เราสามารถเรียนรู้วิธีการตรวจด้วยตนเองได้ หรือหากใครมีบุคคลไว้ใจที่ดูงานบ้านเป็น ก็สามารถเชิญมาร่วมตรวจได้ หรือ อาจพึ่งบริการบริษัทรับจ้างตรวจดีเฟคบ้านและคอนโดโดยผู้เชี่ยวชาญเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะทำเล่มรายงานผลการตรวจให้เราถือเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วยค่ะ

เอกสารแผ่นนี้ เราต้องเซ็นรับทราบข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่วันเข้าตรวจดีเฟคครั้งแรกค่ะ ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ตรวจดีเฟคในห้องชุด ควรทวนงานแก้ไขกับช่างเจ้าหน้าที่โครงการให้ชี้จุดตรงกัน เพราะหลายๆครั้ง มักเกิดความเข้าใจผิดพลาดทางการสื่อสาร ซ่อมงานไม่ตรงจุด ทำให้เราเสียเวลาโดยใช่เหตุค่ะ

เอกสารรับมอบห้องชุด

เป็นเอกสารเพื่อยืนยันว่าห้องชุดของเราอยู่ในสภาพเรียบร้อยดี งานแก้ไขใดๆ ที่พบเจอก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้วทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่โครงการจะเสนอใบรับมอบห้องชุดนี้ ให้แก่ผู้จะซื้อลงนามและเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ต่อไป

เอกสารแผ่นนี้ ไม่จำเป็นต้องเซ็นในครั้งแรกที่เข้าตรวจดีเฟคนะคะ แต่ไว้มาเซ็นหลังจากงานทั้งหมดได้รับการแก้ไขแล้ว แล้วเรามาตรวจผ่านงานอีกครั้งในครั้งที่ 2 หรือจนกว่าจะซ่อมเสร็จทั้งหมดก็ค่อยเซ็นค่ะ

ทำไมต้องเซ็นเอกสารตรวจดีเฟคคอนโด?

เพราะ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้าน หรือคอนโดใดๆ ก็ตามเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่และมีมูลค่าสูง หากจะดำเนินการโดยทางวาจาเพียงอย่างเดียวจะไม่รัดกุม และอาจเกิดประเด็นถกเถียงโต้แย้งกันระหว่างทั้งสองฝ่ายผู้จะซื้อผู้จะขายได้ ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการราบรื่น และถูกต้องชัดเจนที่สุด จึงต้องกระทำการใดๆ โดยมีลายลักษณ์อักษรอ้างอิงด้วยเสมอ

เอกสารตรวจห้องชุดก็เช่นกันค่ะ เพราะ ประเด็นการก่อสร้างตามคุณภาพมาตรฐานห้องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีความพึงพอใจของแต่ละบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง โอกาสของการเกิดงานชำรุด เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น คุณภาพงานต่ำกว่ามาตรฐานจริงๆ หรือ คนงานก่อสร้างอาจพลาดพลั้งทำสิ่งใดชำรุดบกพร่องระหว่างทำห้อง หรือ เกิดอุบัติเหตุ ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างของห้องอื่น กระทำโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้ หรือ แจ้งงานแล้วแต่ช่างไม่เข้าเก็บงานตามที่นัดหมาย ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องมีเอกสารมาควบคุมและรับทราบยินยอมระหว่างกัน

หากงานแก้ไขชำรุดไม่ได้มาตรฐานจริง ทางโครงการต้องแก้ไขโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือหากงานแก้ไขนั้นเกิดขึ้นจากฝ่าย Developer กระทำเองนอกเหนือจากการตรวจของผู้จะซื้อแล้ว ทางโครงการก็ต้องแก้ไขเช่นกันค่ะ ทั้งยังสามารถตรวจสอบการบริการของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย

แต่ทั้งนี้ ก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่จะเจอผู้ซื้อแบบแจ้งแก้ไขงานเพิ่มเติมไม่จบไม่สิ้น ซึ่งใช้เกณฑ์ความพอใจส่วนตัวมากกว่ามาตรฐานงานสร้างบ้านปกติ มาแจ้งเพิ่มตลอดจนเป็นเหตุให้การโอนกรรมสิทธิ์ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เหตุการณ์เช่นนี้ Developer เองก็ตกที่นั่งลำบากเช่นกัน 

สุดท้าย จึงสรุปจบด้วยเอกสารตรวจดีเฟคห้องชุด ที่มีข้อตกลงและกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับทั้งสองฝ่ายนั่นเองค่ะ

www.rawpixel.com

อสังหา 101 คิดว่าการตรวจดีเฟคคอนโด ไม่ยากอย่างที่คิดเสมอไปค่ะ ลองทบทวนการอยู่อาศัยปกติของเรา ว่าหลักการใช้งานพื้นฐานในแต่ละส่วนของบ้านเป็นอย่างไร น้ำไหลไฟติด ท่อไม่อุดตัน เปิดปิดประตู ตู้เสื้อผ้าสะดวก แอร์เย็น น้ำไม่รั่วซึม ฯลฯ ให้ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของเราก็เพียงพอ เพราะอย่างไรแล้ว ทุกคอนโดจะมีรับประกันห้องชุด หากพบสิ่งผิดปกติก็สามารถเรียกช่างโครงการมาดูแลได้ต่อค่ะ




Copy link