fbpx

เรื่องน่ารู้จากสำเนาทะเบียนบ้าน

3.00 min. Read

เมื่อเราซื้อบ้านหรือคอนโด สิ่งสำคัญที่เราต้องได้รับจาก Developer เจ้าของโครงการ คือ เล่มสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นเล่มสีน้ำเงินที่ใช้กันส่วนใหญ่ทั้งประเทศ โดยปกติ เรามักหยิบใช้งานเล่มทะเบียนบ้านควบคู่กับบัตรประชาชน เมื่อติดต่องานราชการและภาคเอกชน เช่น บริษัท ธนาคาร สถาบัน องค์กร เพื่อใช้แสดงเขตเลือกตั้ง แนบใบสมัคร การยื่นกู้สินเชื่อ การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นต้น

บ้านที่อยู่อาศัยทุกหลังจะได้รับทะเบียนบ้านหลังละ 1 เล่ม ภายใต้การดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากใครมีกรรมสิทธิ์บ้านมากกว่า 1 หลังก็จะได้รับเล่มทะเบียนบ้านครบจำนวนตามไปด้วย แต่อย่างไรแล้ว บุคคลหนึ่งๆ จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

จริงๆ แล้ว…เล่มทะเบียนบ้านที่เรามีติดบ้านกันทุกคน ก็มีเรื่องน่ารู้ไม่น้อย ตามอสังหา 101 มาเปิดดูและอ่านรายละเอียดไปพร้อมกันค่ะ

บ้านทุกหลังจะได้รับทะเบียนบ้านหลังละ 1 เล่ม แต่บุคคลหนึ่งๆ จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ทะเบียนบ้าน คือ อะไร?

มาตรา 4 พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ 2534 ระบุไว้ว่า ทะเบียนบ้าน (ทะเบียนราษฎร หรือ ทร.14) คือ ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน สำหรับบุคคลสัญชาติไทย หรือต่างด้าวที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

ทะเบียนบ้านเป็นงานในระบบทะเบียนราษฎร์ จัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร หรือข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับชื่อ ชื่อสกุล เพศ วันเดือนปีเกิดและตาย สัญชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา เป็นต้น กล่าวคือ เอกสารชนิดนี้แสดงถึงตัวตน หลักแหล่ง สถานะ และตำแหน่งที่อยู่ของเราอย่างชัดเจน ถูกต้องตามกฎหมายที่สุด

ทะเบียนบ้าน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

ส่วนที่ 1. รายการเกี่ยวกับบ้าน

เป็นหน้าแรกของเล่มสำเนาทะเบียนบ้าน ระบุข้อมูลของบ้านหลังนั้นๆ

  • ระบุเลขรหัสประจำบ้าน เป็นเลขรหัส 11 หลัก ซึ่งจะไม่ซ้ำกันแต่อย่างใด ความสำคัญคือหลักที่ 1-4 ซึ่งเป็นรหัสของสำนักทะเบียนตามรหัสจังหวัดและอำเภอของประเทศไทย เช่น 1037 คือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตราชเทวี ส่วนหลักที่ 5-10 เป็นเลขเรียงลำดับของแต่ละบ้านในสำนักทะเบียนนั้น ตามเจ้าหน้าที่ได้กำหนด และหลักที่ 11 เป็นเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำบ้านทั้งหมด
  • สำนักทะเบียน ระบุชื่อท้องถิ่น สอดคล้องกับเลขรหัสประจำบ้าน 4 หลักแรก
  • รายการที่อยู่ ระบุที่อยู่ทางการของบ้าน คือ บ้านเลขที่ หมู่ ถนน แขวง เขต จังหวัด ซึ่งเราใช้อ้างอิงสำหรับกรอกข้อมูลที่อยู่ทะเบียนบ้านเวลาติดต่องานทั่วไป
  • ชื่อหมู่บ้าน ระบุชื่อหมู่บ้านหรือชื่อโครงการ
  • ชื่อบ้าน ระบุชื่อหมู่บ้านหรือชื่อโครงการ
  • ประเภทบ้าน แบ่งเป็นบ้าน อาคารชุด ตึกแถว
  • ลักษณะบ้าน แบ่งเป็นบ้าน อาคารชุด ตึกเดี่ยว ตึกแฝด
  • และสุดท้ายคือ วัน เดือน ปี ที่กำหนดบ้านเลขที่

ส่วนที่ 2. รายการบุคคลในบ้าน

เป็นหน้าเอกสารลำดับถัดไป จะระบุรายชื่อและรายละเอียดของผู้พักอาศัยในบ้านหลังนั้น เป็นรายบุคคลไป

ทั้งนี้ เราจะพักอาศัยจริงหรือไม่นั้น ไม่เป็นประเด็นแต่อย่างใดค่ะ… ในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีชื่อในทะเบียนบ้านก็ได้ เช่น บางคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัด แต่มาทำงานที่กรุงเทพจึงเช่าคอนโดหรืออพาร์ทเมนท์อาศัยอยู่แทน กรณีเช่นนี้จึงแยกเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน กับที่อยู่ติดต่อได้หรือที่อยู่จัดส่งเอกสาร ซึ่งไม่ใช่ที่เดียวกันค่ะ

ข้อมูลที่อยู่ในหน้านี้ เป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลแต่ละคน ตั้งแต่ชื่อนามสกุล ชื่อบิดามารดา เลขที่บัตรประชาชน สัญชาติ เพศ วันเดือนปีเกิด ประวัติย้ายที่อยู่เดิม และสถานภาพ

สำหรับสถานภาพหลักๆ แบ่งเป็น 2 สถานะ คือ

  1. เจ้าบ้าน คือ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครองครองบ้านหลังนั้น ซึ่งการครอบครองนี้อาจจะครอบครองในฐานะเจ้าของบ้าน ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นๆ ก็ตาม กรณีที่ไม่ปรากฎเจ้าบ้าน หรือเจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญ หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน
  2. ผู้อยู่อาศัย คือ ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังใดก็ตาม จะถูกตีความว่าบ้านหลังนั้นเป็น “บ้านหลังหลัก”

บุคคลๆ หนึ่งจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ทะเบียนบ้านไม่จำเป็นต้องมีชื่อผู้อยู่อาศัยทุกหลังก็ได้

ผู้ที่มีชื่อปรากฎอยู่ในเล่มทะเบียนบ้าน ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าบ้านหรือผู้อาศัย ภาครัฐจะตีความว่าบ้านหลังนั้นเป็น “บ้านหลังหลัก” ของบุคคลนั้นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับหลักการคิดคำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปจนถึงภาษีอื่นๆ กรณีซื้อขายด้วยค่ะ

ส่วนกรณีที่เราซื้อบ้านหรือคอนโด มากกว่า 1 หลัง จุดประสงค์การซื้อเพื่อการลงทุนขายต่อ ปล่อยเช่า หรือซื้อเก็บไว้เป็นทรัพย์สิน เป็นบ้านพักตากอากาศส่วนตัว เป็นบ้านหลังที่ 2 ไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ มากนัก ทางภาครัฐมองว่าเป็น “บ้านหลังอื่น” จะต้องเสียภาษีกันต่อไป

ทะเบียนบ้านเป็นอีกหนึ่งเอกสารสำคัญ ควรเก็บไว้อย่างดีเพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินนะคะ

Updated : January 10, 2023




Copy link