ยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร มีขั้นตอนอย่างไร?
มีคำถามถามเข้ามาว่า “เพิ่งเริ่มทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วๆ ไป เงินเดือนไม่สูงนัก มีเงินสะสมบ้างแต่ไม่มากนัก สามารถซื้อบ้านได้มั้ยคะ?”
ทำไมจะไม่ได้ละคะ…
หากเราวางแผนจะซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่ซักที่หนึ่งนั้น เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ที่สะสมมาทั้งชีวิตให้หมดไปในคราวเดียวก็ได้ แล้วทำอย่างไร? จึงจะเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้จริงๆ หรอคะ…ทางออก คือ การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านกับธนาคาร แล้วทยอยผ่อนจ่ายคืนเป็นรายเดือนไปแทนนั่นเองค่ะ
ขั้นตอนการกู้ซื้อบ้านทุกวันนี้ ไม่ได้ยากและซับซ้อนแต่อย่างใด
หากใครมีเงินออมสะสม ก็สู้นำเงินก้อนของเราไปใช้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ให้งอกเงยก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันค่ะ อีกทั้งขั้นตอนการกู้ซื้อบ้านทุกวันนี้ก็ไม่ได้ยากและซับซ้อนแต่อย่างใด แถมธนาคารยังมักมีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยต่ำและข้อเสนอพิเศษออกมาเรื่อยๆ เพื่อดึงดูดใจให้ผู้ที่กำลังสนใจซื้อบ้านกล้าๆ ขอสินเชื่อธนาคารด้วยค่ะ
ถ้าเช่นนั้นแล้ว หากใครมือใหม่วงการอสังหา ยังไม่เคยลงสนามกู้ซื้อบ้านและไม่เข้าใจขั้นตอนแล้วล่ะก็…อสังหา101 ขอแนะนำขั้นตอนการยื่นกู้สินเชื่อหรือกู้ซื้อบ้านฉบับเข้าใจง่ายๆ ไปอ่านรายละเอียดพร้อมกันนะคะ
1. เคลียร์เครดิตส่วนตัวและเตรียมรายการเดินบัญชีให้พร้อม
เพราะหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารมีหลัก Debt Service Ratio (DSR) มาคำนวนภาระหนี้ก่อนปล่อยกู้วงเงินที่เหมาะสม ยิ่งหากรายได้เยอะ ค่าของ DSR ก็จะถูกปรับขึ้นตาม
DSR คือ การที่แบงค์ชาติกำหนดเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อของแบงค์พาณิชย์ว่าจะให้สินเชื่อซื้อคอนโดหรือบ้านได้ทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์จากรายได้รวมของผู้กู้ โดยภาระหนี้ที่เหมาะสมนั้น ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน และภาระหนี้สูงสุดในการยื่นสินเชื่อบ้านต้องไม่เกิน 50-80% ของรายได้ หากภาระหนี้น้อยการอนุมัติสินเชื่อบ้านก็จะมีโอกาสสูงทีเดียวค่ะ
ลองสำรวจเครดิตบูโร (พฤติกรรมหนี้) ของตนเองว่าติดค้างชำระสิ่งใดตามเวลากำหนดหรือไม่ เพราะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารแน่นอน หากเราไม่ชำระหนี้เก่าให้หมดเสียก่อน ทางที่ดีที่สุดคือต้องเคลียร์ประวัติค้างชำระที่ไม่ตรงกำหนดทั้งหมด และสร้างความมั่นคงทางการเงินใหม่ เพื่อให้เราสามารถยื่นขอสินเชื่อต่อไปได้อย่างปกติ
ปัจจุบัน บุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบเครดิตบูโรตนเองได้แล้วนะคะ เผื่อใครไม่มั่นใจก็ลองเช็คดูก่อนได้ค่ะ
สามารถตรวจสอบได้ที่ : www.ncb.co.th
2. หาธนาคารทางเลือก
ขั้นตอนนี้ คือ การช้อปปิ้งเลือกแบงค์นั่นเองค่ะ อย่างน้อย 3 แห่งเพื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่คุ้มที่สุด วงเงินกู้ ค่าธรรมเนียม ระยะเวลา และข้อเสนอเบี้ยประกันอัคคีภัย ค้นหาและเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด โดยอาจให้เจ้าหน้าที่โครงการช่วยแนะนำธนาคารที่ดีลร่วมกับโครงการนั้นๆ เพราะ ส่วนใหญ่แล้วจะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเฉพาะ ซึ่งไม่พบในสาขาทั่วไปค่ะ
3. จัดเตรียมเอกสารส่วนตัว
โดยปกติธนาคารจะแจ้งขอเอกสารส่วนตัวของผู้กู้ตามสถานะให้ตรงกับเงื่อนไขของธนาคาร แบ่งเป็นเอกสารส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อ ทะเบียนสมรส ฯลฯ และเอกสารทางการเงินตามสาขาอาชีพ เช่น สลิปเงินเดือนพนักงานบริษัท เอกสารข้าราชการ หนังสือรับรองบริษัทหากกู้ในนามเจ้าของกิจการ กลุ่มอาชีพพิเศษ เช่น แพทย์ นักบิน เป็นต้น และสุดท้ายเอกสารแสดงฐานะทางการเงินอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารค่ะ
4. กรอกใบสมัครและยื่นเอกสาร
ขั้นตอนถัดมา เราสามารถทำเรื่องยื่นใบสมัครหรือคำขอสินเชื่อของแต่ละธนาคาร พร้อมส่งเอกสารประกอบทั้งหมด ซึ่งต้องเตรียมเอกสารเหมือนกันครบชุดเท่ากับจำนวนธนาคารที่ยื่นขอไปค่ะ อย่างเช่น ยื่นขอสินเชื่อไป 3 ธนาคารก็ต้องเตรียมเอกสาร 3 ชุดพร้อมกันค่ะ
เมื่อเจ้าหน้าธนาคารรับเรื่องแล้ว ขั้นตอนภายในธนาคารจะนำส่งข้อมูลทั้งหมดไปที่ศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภคต่อไป
5. รอการอนุมัติ
ขั้นตอนนี้ธนาคารจะดำเนินการเรื่องภายใน ดังเช่น การเข้าประเมินหลักทรัพย์บ้านและคอนโดที่เราจะซื้อตามขั้นตอนปกติ แต่หากขาดตกคุณสมบัติของผู้กู้ในเรื่องใดไป ธนาคารจะติดต่อเราเพื่อเรียกเก็บเอกสารประกอบเพิ่มเติมค่ะ ดังนั้นขั้นตอนนี้ก็จะลุ้นๆ หน่อยว่าเราผ่านเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อหรือไม่ และได้วงเงินกู้ซื้อบ้านเท่าไหร่ค่ะ
6. ลงนามสัญญากู้เงิน
เมื่อคุณสมบัติผ่านเกณฑ์อนุมัติครบถ้วนแล้ว ธนาคารจะติดต่อและแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อให้เราทราบเพื่อนัดวันลงนามสัญญากู้ยืม โดยปกติจะแจ้งผลการอนุมัติประมาณ 3-14 วันหลังจากยื่นเรื่องครั้งแรก ซึ่งระยะเวลาช้าเร็วอย่างไร ล้วนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้กู้ และโครงการที่เราจะซื้อค่ะ
นัดเจอทั้งโครงการและธนาคารที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำการซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดและจดจำนองไปพร้อมกัน
7. นัดโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนอง
ตอนนี้เราสามารถคว้าบ้านในฝันมาได้แล้วค่ะ…
เมื่อเราได้รับอนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน เจ้าหน้าที่ธนาคารจะนัดหมายเราทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจดจำนอง ณ สำนักงานที่ดินในท้องที่ที่หลักประกัน(บ้านหรือคอนโดที่เราจะซื้อ)จดทะเบียนไว้ ในขั้นตอนนี้ทั้งผู้กู้และผู้กู้ร่วม(ถ้ามี)ต้องมาร่วมลงนามสัญญาทุกฉบับค่ะ
และในขั้นตอนนี้เองที่เราต้องนัดโอนกรรมสิทธิ์กับโครงการ ซึ่งต้องแจ้งให้โครงการทราบถึงกำหนดวันโอนฯ อย่างน้อย 3-7 วันล่วงหน้า พร้อมนัดเจอทั้งโครงการและธนาคารที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำการซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดและจดจำนองไปพร้อมกัน
อีกทั้ง เราต้องจัดเตรียมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย เช่น ค่าอากรแสตมป์ ค่าพยาน ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง เบี้ยประกัน ฯลฯ ซึ่งต้องสอบถามตัวเลขค่าใช้จ่ายกับโครงการและธนาคารอีกครั้งค่ะ
ธนาคารจะปล่อยกู้สินเชื่อได้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเท่านั้น แต่ในระหว่างนั้นเราก็สามารถยื่น pre-approve เพื่อดูศักยภาพทางการเงินของเราไว้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกู้ซื้อบ้านได้เช่นกันค่ะ
จบทุกขั้นตอนเตรียมตัวยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารง่ายๆ เพียงแค่นี้เองค่ะ หากใครเริ่มเตรียมตัวซื้อบ้านหรือคอนโดแล้ว ศึกษาข้อมูลของวงการอสังหารให้เข้าใจทั้งหมดเสียก่อน จะช่วยให้เราไม่พลาดการซื้อบ้านและมีทิศทางการซื้ออย่างถูกต้องนะคะ