ปล่อยเช่าต้องแจ้งที่พักคนต่างด้าวหรือไม่?
ข้อควรรู้การปล่อยเช่าคอนโด
หลายๆ ท่านที่เป็นเจ้าของห้องชุดในคอนโดมิเนียม เจ้าของบ้านที่พัก เจ้าของอพาร์ตเมนท์ หรือที่อยู่อาศัยประเภทใดก็ตาม เมื่อเราตกลงใจปล่อยเช่าหรือให้ที่พักพิงกับผู้อาศัยชาวต่างชาติมาพำนักอยู่นั้น สิ่งที่เจ้าของบ้านพึงต้องปฏิบัติ คือ การแจ้งที่พักคนต่างด้าวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้ถูกต้องเป็นไปตามข้อปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย และเป็นประโยชน์ต่อการใช้ยื่นต่อวีซ่าของชาวต่างด้าวเองด้วย
หลักการ
การแจ้งที่พักของคนต่างด้าว ตาม พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ได้กำหนดไว้ว่า “เจ้าบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหะสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ เคหะสถาน หรือโรงแรมนั้นอยู่ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ถ้าท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจในท้องที่นั้น ในกรณีที่บ้าน เคหะสถาน หรือโรงแรมที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ตามวรรคหนึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองตรวจคนเข้าเมือง การแจ้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด”
ในการแจ้งที่พักคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัยในเคหะสถานซึ่งได้แก่ โรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงแรมฯ เกสเฮ้าส์ แมนชั่น อพาร์ตเม้นท์ สถานประกอบการ หรือ บ้านเช่าทั่วๆ ไป ให้เจ้าของเคหะสถานดังกล่าว เจ้าของบ้านเช่า หรือผู้ประกอบการแจ้งตามแบบ ตม.30
แบบตม. 30 คือ แบบฟอร์มการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน หรือผู้ครอบครองเคหะสถาน
รู้จักแบบ ตม.30
แบบตม. 30 คือ แบบฟอร์มการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน หรือผู้ครอบครองเคหะสถาน
ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุรายละเอียดของผู้แจ้งในฐานะเจ้าบ้านด้วยข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อนามสกุล สัญชาติ ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เพื่อแจ้งว่าผู้พักอาศัยต่างด้าวนั้น เข้าพักอยู่ที่ไหน โดยให้ระบุชื่อสถานที่อยู่นั้นๆ หรือที่อยู่ของคอนโดมิเนียมนั้นนั่นเอง วันที่เข้าพักและจำนวนรายชื่อของชาวต่างด้าวที่เข้าพักอาศัยทั้งหมด
โดยรายละเอียดของบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัยนั้น จำเป็นต้องใส่รายละเอียดครบถ้วน โดยดูข้อมูลได้จากหนังสือเดินทาง หน้าวีซ่า และบัตรขาเข้า (ตม.6)
เอกสารประกอบการยื่นแจ้งที่พักคนต่างด้าว
- สำเนาบัตรประชาชน สำหรับเจ้าบ้าน
- สำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับเจ้าบ้าน
- สำเนาหนังสือเดินทาง หน้าแรกรายละเอียดและภาพถ่ายใบหน้า สำหรับผู้พักอาศัยต่างด้าว
- สำเนาหนังสือเดินทาง หน้าวีซ่าเข้าประเทศ สำหรับผู้พักอาศัยต่างด้าว
5. บัตรขาเข้า (ตม.6) สำหรับผู้พักอาศัยต่างด้าว (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว แก้ไขล่าสุด มิ.ย 2566)
วิธีการยื่นแบบตม. 30
ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ 3 วิธีการ ดังนี้
- แจ้งด้วยตนเอง
สามารถนำเอกสารมาดำเนินการด้วยตนเอง หรือ มอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในเขตพื้นที่ที่คนต่างด้าวพักอาศัย (ตามวันและเวลาราชการ)
กรณีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่ งานรับแจ้งที่พักอาศัย ชั้น 2 ศูนย์บริการชั่วคราวเมืองทองธานี อาคาร 6 ถนนป๊อปปูล่า ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี
กรณีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ หรือ สถานีตำรวจในท้องที่นั้น
- แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
กรอกแบบฟอร์ม ตม.30 และซองจดหมายจ่าหน้าซองถึงตนเอง ใส่ซองลงทะเบียนไปยังกองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
- แจ้งทางอินเตอร์เนท (Internet)
เป็นวิธีการที่ง่าย สะดวกรวดเร็วและเป็นที่นิยมที่สุด โดยดำเนินการได้ที่เว็บไซต์ https://tm30.immigration.go.th
โดยเจ้าบ้านผู้ดำเนินการต้องลงทะเบียนเพื่อได้รับรหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน (Username & Password) เมื่อทำการเข้าระบบ (Login) ได้แล้วนั้น ก็สามารถใส่รายละเอียดดังเช่นแบบฟอร์มตม.30 ได้ตามขั้นตอนของระบบหรือสามารถดาวน์โหลดคู่มือการลงทะเบียนได้ในเว็บไซต์เดียวกัน
ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านวิธีการใด เจ้าบ้านต้องเก็บภาพหลักฐาน เก็บใบลงทะเบียน หรือพิมพ์ใบยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จ ออกมาเก็บไว้เป็นชุดสำรองอีกครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาดทางระบบที่อาจเกิดขึ้นได้
โทษปรับกรณีฝ่าฝืน
การแจ้งที่พักคนต่างด้าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่พึงต้องปฏิบัติตาม หากไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดจะมีโทษปรับ 800 บาทต่อคนต่างด้าวที่พักอาศัย แต่ไม่เกิน 2,000 บาท
ข้อควรรู้
การแจ้งที่พักอาศัยนั้นเจ้าบ้านสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้ โดยต้องจัดเตรียมหนังสือมอบอำนาจและเอกสารผู้รับมอบอำนาจเพื่อดำเนินการแทน ในกรณีที่ประสงค์ไปยื่นด้วยตนเอง แต่หากการยื่นผ่านช่องทางออนไลน์นั้น มีข้อจำกัดที่ 1 Username นั้นรองรับได้ 1 เลขรหัสประจำบ้านบนทะเบียนบ้าน จึงเป็นเหตุให้เอเจ้นท์หรือตัวแทนการขายไม่สามารถดำเนินการแทนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาบริการระหว่างเจ้าของบ้านและเอเจ้นท์ที่ยินยอมเห็นชอบทั้งสองฝ่าย
ขั้นตอนทั้งหมดไม่ได้ยุ่งยากและซับซ้อนอย่างที่คิดค่ะ ขอแค่เตรียมเอกสารครบ กรอกข้อมูลถูกต้อง มีวิธีดำเนินการให้เลือกหลายช่องทางตามที่เราสะดวก ดำเนินการอย่างถูกต้อง ก็อยู่อาศัยสบายใจหายห่วงค่ะ