รู้ก่อนเลี้ยง กฎการเลี้ยงสัตว์ในคอนโดมีอะไรบ้าง?
เชื่อว่าคงมีหลายครอบครัวเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นชื่อว่า “เพื่อนคู่ใจ” อย่างน้องหมา น้องแมว ไว้ที่บ้านเป็นเพื่อนเล่นแก้เหงาด้วย หากจะเลี้ยงในบ้านส่วนตัวของเราเองนั้น เราสามารถเลี้ยงได้อย่างอิสระ เหล่าน้องๆ สามารถวิ่งเล่นได้ตามใจบริเวณรอบบ้าน แถมยังคอยเฝ้าบ้านให้เราได้ด้วย Pet Lover อย่างเราๆ แค่เห็นน้องมีความสุข เราก็มีความสุขแล้วเช่นกันค่ะ
แต่หากเพื่อนๆ คนไหนที่ต้องใช้ชีวิตแบบคนเมือง อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเป็นหลัก การจะเลี้ยงสัตว์นั้นในห้องชุดของตัวเองนั้น อาจจะต้องไตร่ตรองดูให้ดีก่อนซักหน่อย เพราะพฤติกรรมการเลี้ยงดู และพฤติกรรมของสัตว์อาจต้องลงรายละเอียดและใส่ใจมากขึ้น
ทุกท่านทราบมั้ยคะ… ว่าแต่ดั้งแต่เดิมนั้น การเลี้ยงสัตว์ในคอนโดมิเนียม ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำได้ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของคนเราก็มีการพัฒนาปรับตัวมากขึ้นหลายๆ แบบ ผู้คนเริ่มมองหาการอยู่อาศัยในอาคารสูงแทนที่บ้านเดี่ยว ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากประชากรเพิ่มขึ้น สวนทางกับบ้านแนวราบเริ่มไกล หายาก และราคาแพง ด้วยปัจจัยเหล่านี้การเลี้ยงสัตว์จึงต้องปรับตัวตาม เหล่าผู้พัฒนาโครงการ (Developer) จึงออกแบบโครงการเสียใหม่เพื่อรองรับกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
การเลี้ยงสัตว์ในคอนโด ต้องไตร่ตรองให้ดี เพราะพฤติกรรมการเลี้ยงดูและพฤติกรรมของสัตว์ จำเป็นต้องลงรายละเอียดและใส่ใจมากขึ้น
โครงการใหม่ๆ ในระดับกลาง-บน ได้เริ่มมีนโยบาย Pet-Friendly มารองรับกลุ่มคนรักสัตว์ ให้สามารถเลี้ยงดู อยู่อาศัย และมาร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของโครงการได้ โดยจัดให้มี Pet Zone และ Dog Toilet เป็นพื้นที่ส่วนกลางด้วย แต่อย่างไรก็ตาม…ในสังคการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก อย่างไรย่อมต้องมีกฎระเบียบคอยควบคุม เพื่อให้การการอยู่อาศัยของทุกคนในโครงการนั้นเป็นสุข
วันนี้เรามาลองดูกฎการเลี้ยงสัตว์ในคอนโดมิเนียมกันซักหน่อยดีกว่าค่ะ ว่าถ้าคิดจะเลี้ยงแล้วนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงแสนรักต้องปฏิบัติอย่างไรกันบ้างค่ะ
ข้อบังคับการเลี้ยงสัตว์
กฎข้อบังคับต่างๆ นั้น นิติบุคคลจะเป็นผู้ร่างขึ้นถูกต้องตามมาตรฐาน เหมาะสมกับรูปแบบโครงการ เพื่อบังคับใช้กับเจ้าของร่วมที่ต้องการเลี้ยง โดยกฎทุกข้อนั้นจะได้รับการพิจารณาตรวจสอบ ผ่านการเห็นชอบ และอนุมัติจากคณะกรรมการก่อนมีผลบังคับใช้
โดยแบ่งเป็น 5 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1. การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง
ความสำคัญข้อแรก คือ การลงทะเบียนประวัติของน้องๆ นี่เองค่ะ เพื่อทราบข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะประเภท พันธุ์ ใบรับรองการตรวจโรคจากโรงพยาบาลสัตว์ ที่ได้มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (โดยใบรับรองต้องมีอายุไม่เกิน 30 วันนะคะ และต้องยื่นทุกปีตลอดการเลี้ยง) โดยในขั้นตอนนี้เจ้าของสัตว์ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี และค่าประกันความเสียหายที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงในปกครองของเราด้วยค่ะ
ค่าธรรมเนียมรายปีที่ว่านี้ เสมือนเงินกองทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง และน้ำยาฆ่าเชื้อที่ต้องฉีดพ่นเป็นประจำ จำนวนกี่บาทนั้น เป็นไปตามกฎของแต่ละโครงการ และเรียกเก็บเฉพาะบ้านไหนที่เลี้ยงน้องๆ เท่านั้นค่ะ
ส่วนค่าประกันความเสียหายนั้นจะเรียกเก็บแค่ครั้งเดียว สำหรับกรณีเผื่อน้องๆ ของเราไปกัดฟัดแทะทรัพย์สินส่วนกลางใดๆ อย่างเช่น โซฟาในห้องสมุด หรือสร้างความเสียหาย บาดเจ็บให้แก่เจ้าของร่วมท่านอื่น เราก็จำเป็นต้องจ่ายเงินประกันส่วนนี้ไว้ ถ้าเลิกเลี้ยงเมื่อไหร่ก็จะได้รับเงินคืนตามปกติค่ะ
กรณีสัตว์เลี้ยงตายหรือต้องการเปลี่ยนสัตว์เลี้ยง ก็แจ้งต่อนิติบุคคลทุกครั้ง เพื่อทำตามขั้นตอนปกติค่ะ
2. กฎระเบียบ
ข้อนี้จะเข้มข้นขึ้นเชิงพฤติกรรมการเลี้ยงค่ะ เพื่อความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว สุขอนามัยและสุขภาพของผู้อยู่อาศัยทุกท่าน นิติฯ จะอาจจำกัดข้อบังคับบางอย่างละเอียดมากขึ้น ดังเช่น
- กำหนดขนาดและน้ำหนัก (เมื่อโตเต็มที่) ว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ โดยจำกัดจำนวนตัวต่อพื้นที่ตารางเมตรของห้องชุด สูงสุดไม่เกินกี่ตัวก็แล้วแต่กำหนดกัน โดยส่วนใหญ่จะอนุญาตเลี้ยงสัตว์พันธุ์เล็กเท่านั้น เช่นน้องหมาพันธุ์ ชิวาว่า ปอมเมอเรเนียน หรือ เลี้ยงน้องแมว กฎข้อนี้เห็นด้วยเต็มๆ ค่ะ เพราะ ถ้าเราเลี้ยงน้องหมาพันธุ์ใหญ่ น้องจะเกิดความเครียดในที่แคบได้ เพราะนิสัยของเค้าจะชอบวิ่งเล่นในที่กว้าง ได้ออกกำลังกาย ได้เดินสำรวจนู่นนี่ไม่อยู่เฉย พื้นที่ส่วนกลางในโครงการก็อาจไม่เพียงพอสำหรับน้องๆ ได้ค่ะ อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อเพื่อนร่วมบ้านของเรา หลายๆ ท่านกลัวน้องหมา กลัวน้องแมวกัดก็มีบ้างเช่นกันค่ะ
- ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษ สัตว์ปีก สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าสงวน และสัตว์อันตรายต่างๆ ทุกชนิด เช่น งู กิ้งก่า อีกัวน่า นก แมลงสายพันธุ์ต่างๆ
- สัตว์เลี้ยงต้องมีสายจูง และผู้ดูแลตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง ป้องกันการเพ่นพ่านหรือสัตว์เลี้ยงหลุดจากการดูแล ควบคุม
- เจ้าของสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาใช้บริการได้เฉพาะพื้นที่ส่วนกลางที่ได้รับอนุญาตสำหรับ Pet Zone, Dog Toilet และสวนเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่คนใช้บริการจะไม่ได้รับอนุญาต เช่น ห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ ซาวน่า ห้องสมุด สนามเด็กเล่น รวมไปถึงลิฟต์โดยสารด้วยนะคะ บางโครงการอนุญาตให้ใช้ลิฟต์ขนของเท่านั้น หรือ นำสัตว์เลี้ยงใส่ตะกร้า ขึ้นรถเข็นแทนก็ได้ค่ะ
- เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องดูแลจัดเก็บอุจจาระและพ่นน้ำทำความสะอาดด้วยทุกครั้ง กรณีพาเดินเล่นในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อสุขอนามัย ไม่สร้างความสกปรกและกลิ่นรบกวน
- ห้ามมิให้สัตว์เลี้ยงสร้างความเดือดร้อน รำคาญและบาดเจ็บต่อพนักงานและเจ้าของร่วมท่านอื่นโดยเด็ดขาด
- ห้ามสัตว์เลี้ยงในปกครองของเจ้าของห้องชุด ทำร้ายสัตว์เลี้ยงของเจ้าของร่วมท่านอื่น
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตแล้ว ใส่ถุงขยะปะปนกับขยะทั่วไป
- กรณีสัตว์เลี้ยงป่วย เจ้าของต้องนำไปหาหมอทันที โดยไม่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงนั้นๆ เข้าบริเวณพื้นที่ส่วนกลางได้
- กรณีเจ้าของไม่อยู่อาศัยในห้องชุดเป็นเวลานาน ให้นำสัตว์เลี้ยงไปไว้ยังสถานที่ในปกครองอื่นๆ เพื่อป้องกันการส่งเสียงรบกวนกับห้องชุดอื่นๆ
กฎข้อบังคับต่างๆ จะเหมาะสมกับรูปแบบโครงการ โดยกฎทุกข้อจะได้รับการพิจารณาตรวจสอบ และอนุมัติจากคณะกรรมการก่อนมีผลบังคับใช้
3. กรณีก่อความผิด
- กรณีสัตว์เลี้ยงหลุดจากการดูแล และสร้างความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น เจ้าของต้องแก้ไขปัญหาโดยทันที หากยังเพิกเฉยนิติบุคคลฯ ขอสงวนสิทธิ์ดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป โดยจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหาย สุขภาพ และผลกระทบใดๆ ต่อไป
4. บทลงโทษ
กรณีที่สัตว์เลี้ยงของเราก่อความรำคาญ ความเสียหาย ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยต่อเจ้าของร่วมหรือเพื่อนบ้านร่วมคอนโดของเรา ในกรณีนี้นิติฯ จะกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องดูแล ควบคุมและรับผิดชอบต่อไปค่ะ
- เสียค่าปรับอัตรารายวัน กรณีละเว้นการลงทะเบียน การต่อทะเบียน การเลี้ยงสัตว์ต้องห้ามและเป็นอันตรายทุกชนิด (จำนวนค่าปรับ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโครงการ)
- เสียค่าปรับตามครั้ง กรณีสร้างความสกปรก ความเดือดร้อน ทำให้เจ้าของร่วมหรือสัตว์เลี้ยงของเจ้าของร่วมอื่นได้รับบาดเจ็บ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชย ค่าเยียวยาที่เกิดขึ้น (จำนวนค่าปรับ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโครงการหรือตามจริง)
- หากยังฝ่าฝืน นิติบุคคลจะไม่อนุญาตให้เจ้าของนำสัตว์เข้าเลี้ยงในโครงการอีกต่อไป
5. วิธีดำเนินการของนิติบุคคล
โดยปกติแล้วหากกรณีมีความผิดเกิดขึ้น นิติฯ จะแจ้งเตือนตามลำดับการเพิกเฉยหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตั้งแต่บอกกล่าวทางวาจา จดหมายแจ้งเตือน การให้นำสัตว์ออกจากพื้นที่ การริบเงินประกัน ไปจนถึงการยกเลิกบริการน้ำประปาในห้องชุด
กฎการเลี้ยงที่บังคับใช้ไม่ได้ยุ่งยากเท่าไหร่เลยใช่มั้ย แค่เราต้องรัก ใส่ใจ รับผิดชอบ และควบคุมสัตว์เลี้ยงของเราอย่างดี ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคมส่วนรวม เพียงแค่นี้สังคม Pet Lover ก็จะน่าอยู่ และสามารถอาศัยร่วมกันโดยไม่เกิดปัญหาใดๆ ค่ะ