วิกฤติ Covid-19…หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
สรุปทางออกมาตรการผ่อนบ้าน ธนาคารช่วยเหลืออะไรเราในสถานการณ์เช่นนี้?
ในวันแบบนี้หลายคนอาจนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน และอีกหลายคนอาจยังนั่งทำงานอยู่ในที่ทำงานของตนเอง และอาจจะมีอีกหลายคนต้องออกมาอยู่บ้านโดยไม่ได้ทำงานอีกต่อไป แต่ไม่ว่าใครจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เราก็ต้องสู้ต่อไปในวันที่อาจจะไม่ง่ายนักนี้ เพราะใช่ว่าทุกปัญหาจะไม่มีทางออก …แต่ทางออกไหนจะเหมาะกับเรามากที่สุด มาดูไปพร้อมๆ กันได้เลยค่ะ
ในช่วงนี้ธนาคารต่างมีมาตรการออกมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นี้ จนทำให้ใครหลายๆ คนที่ไม่ได้รับผลกระทบก็อาจตื่นเต้นไปกับมาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ไปด้วย…แต่เราต้องขอแนะนำเลยว่าหากคุณไม่ได้รับผลกระทบ หรือยังมีศักยภาพพอที่จะสามารถชำระค่างวดบ้านกับทางธนาคารได้ “การชำระไปตามปกติเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดอย่างแท้จริง”
ก่อนอื่นใด…สำรวจตัวเองซักนิดว่าเราจัดอยู่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบประเภทใด ศึกษาข้อมูลแต่ละกลุ่มให้ดี แล้วจึงค่อยเริ่มวางแผนให้สอดคล้องกับสถานะทางการเงินของเรากันค่ะ
ยังไม่ได้รับผลกระทบ ยังมีกำลังทรัพย์อยู่ หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
กลุ่มที่ 1 ยังไม่ได้รับผลกระทบ หรือยังมีกำลังทรัพย์อยู่ หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
คำตอบ คือ “ผ่อนชำระค่างวดไปตามปกติ”
ทางเลือกนี้ถือเป็นทางเลือกดีที่สุดสำหรับผู้ที่ยังพอมีกำลังที่จะสามารถผ่อนชำระได้ก็คือ การชำระค่างวดตามปกติ เพราะเงินที่เราชำระไปจะช่วยลดทั้งเงินต้นและไม่เสียดอกเบี้ยไปเปล่าๆ รวมถึงไม่เป็นการเพิ่มยอดหนี้อีกด้วย นั่นก็คือ
อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ได้ดังนี้ค่ะ
จำนวนเงินกู้ยืมกับธนาคาร 2,500,000 บาท
มียอดผ่อนชำระ เดือนละ 15,000 บาท (แบ่งเป็นเงินต้น 8,000 บาท และดอกเบี้ย 7,000 บาท)
หากเราชำระค่างวดปกติเป็นเวลา 3 เดือน (15,000 x 3) = รวมเป็นเงิน 45,000 บาท
เงินต้นของเราจะลดลง (8,000 x 3) = รวมเป็นเงิน 24,000 บาท
ดังนั้น เมื่อขึ้นเดือนที่ 4 ยอดหนี้จะคงเหลือ 2,476,000 บาท
หรือ
หากเราชำระค่างวดปกติเป็นเวลา 12 เดือน (15,000 x 12) = รวมเป็นเงิน 180,000 บาท
เงินต้นของเราจะลดลง (8,000 x 12) = รวมเป็นเงิน 96,000 บาท
ดังนั้น เมื่อขึ้นเดือนที่ 13 ยอดหนี้จะคงเหลือ 2,404,000 บาท
โดนลดเงินเดือนและค่าจ้าง หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
กลุ่มที่ 2 โดนลดเงินเดือนและค่าจ้าง (Reduction of Salary) หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
คำตอบ คือ “พักชำระเงินต้น ผ่อนแต่ดอกเบี้ย” เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตัวเอง หากไม่มีเงินออมมากพอ
โดนลดเงินเดือนก็ว้าวุ่นใจเบาๆ เพราะค่ากินค่าอยู่ยังไม่หายไปไหน วิธีการนี้…ถือว่าช่วยให้เงินในกระเป๋าไม่ตึงจนเกินไป ค่าใช้จ่ายผ่อนแบงค์หายไปนิดหน่อยก็ยังดี ให้พอมีเงินมาทดแทนการดำรงชีพต่อไปค่ะ
ถึงไม่ต้องจ่ายทั้งหมด อาศัยจ่ายแค่บางส่วน ประเด็นคือส่วนนั้นดันเป็น…“ดอกเบี้ย” ใครไม่เข้าใจ ฟังครั้งแรกอาจต้องถอยหลังไปถามว่า มาตรการนี้ช่วยได้จริงหรือ?
“พักชำระเงินต้น ผ่อนแต่ดอกเบี้ย” วิธีการนี้บางธนาคารอาจให้ระยะเวลา 6 เดือน หรือบางธนาคารอาจให้ยาวถึง 12 เดือนกันเลยทีเดียว
อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ได้ดังนี้ค่ะ
จำนวนเงินกู้ยืมกับธนาคาร 2,500,000 บาท
มียอดผ่อนชำระ เดือนละ 15,000 บาท (แบ่งเป็นเงินต้น 8,000 บาท และดอกเบี้ย 7,000 บาท)
หากเราพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 12 เดือน (8,000 x 12) = รวมเป็นเงิน 96,000 บาท
แต่เรายังคงชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 12 เดือน (7,000 x 12) = รวมเป็นเงิน 84,000 บาท
ดังนั้น เมื่อขึ้นเดือนที่ 13 เราจะยังคงมียอดหนี้เงินต้นเท่าเดิมคือ 2,500,000 บาท
สังเกตุได้ว่า เงินต้นไม่ลดซักบาทเดียวค่ะ แต่เราเสียเงินค่าดอกเบี้ยให้ธนาคารไปแล้วเป็นเงิน 84,000 บาทให้กับ 12 เดือนที่ผ่านมา
เอาล่ะ…อย่าเพิ่งช้ำใจไปค่ะ แม้จุดด้อย คือ จ่ายดอกครบถึงแม้เงินต้นจะไม่ลดลงเลย แต่มาตรการนี้ก็ยังมีข้อดีอยู่ คือ
- ลดภาระหนี้รายเดือนลงจากเดิม ตามจำนวนเงินต้นที่ได้ขอพักชำระ เพื่อให้เรามีเงินไปใช้จ่ายการดำรงชีวิต
- ไม่เสียเครดิตใดๆ จากการชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ประวัติการผ่อนจ่ายชำระหนี้ไม่เสีย
- สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ชำระไป ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว เรายังมีประวัติและเครดิตดีๆ ไว้ต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้เช่นเดิมค่ะ
ถูกเลิกจ้าง บริษัทให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
กลุ่มที่ 3 ถูกเลิกจ้าง (Lay Off) หรือ บริษัทให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หยุดผ่อนบ้านดีหรือไม่?
คำตอบ คือ “พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย” เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตัวเอง หากไม่มีเงินออมมากพอและอาจขาดรายได้ในระยะยาว
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุดแต่อย่างใดนะคะ แม้ว่าฟังดูแล้ว…วิธีการนี้ช่างดึงดูดใจกับ “การหยุดจ่ายใดๆ ให้กับธนาคาร” อารมณ์ขอพักหายใจยาวๆ…
แต่ในเชิงปฏิบัตินั้น เปรียบเทียบไม่ได้กับการขอพักชำระผ่อนค่างวดรถ ชนิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงค่ะ หลายคนเข้าใจว่า…หยุดคือหยุดทุกอย่าง ต้นไม่วิ่งดอกไม่วิ่ง แค่ทดเวลาออกไปหน่อยตามที่ขอผ่อนผัน
อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ได้ดังนี้ค่ะ
จำนวนเงินกู้ยืมกับธนาคาร 2,500,000 บาท
มียอดผ่อนชำระ เดือนละ 15,000 บาท (แบ่งเป็นเงินต้น 8,000 บาท และดอกเบี้ย 7,000 บาท)
หากเราได้พักชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือน (15,000 x 3) = รวมเป็นเงิน 45,000 บาท
นั่นคือ เราขาดส่งดอกเบี้ยไป 3 เดือนเป็นเงิน 21,000 บาท (เงินต้นไม่ลด ส่วนดอกเบี้ยก็ยังคงเดินอยู่)
ดังนั้น เมื่อขึ้นเดือนที่ 4 เราจะมีเงินต้นเพิ่มขึ้นจาก 2,500,000 บาท เป็น 2,521,000 บาททันที
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ธนาคารให้เรายืมเงินเพิ่มโดยไม่ต้องข้อเอกสารเพิ่มเติมให้ยุ่งยากนั่นเองค่ะ
เห็นได้ชัดว่าจุดด้อยสุด คือ เงินต้นไม่ลดดอกเบี้ยยังวิ่ง แถมดอกเบี้ยที่ขาดส่งนั้น ยังแปลงสภาพเป็นหนี้เงินต้นในวันข้างหน้าอีก แต่ข้อดีเร่งด่วน คือ
- ลดภาระหนี้รายเดือนก้อนใหญ่ เพื่อให้เรามีเงินไปใช้จ่ายการดำรงชีวิต
- ไม่เสียเครดิตใดๆ จากการชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ประวัติการผ่อนจ่ายชำระหนี้ไม่เสีย
เช่นเดียวกับมาตรการที่ 2 อาจไม่ได้เซฟสุด แต่ก็ช่วยเซฟชีวิตให้เดินหน้าต่อไปได้ค่ะ
วิธีการนี้เป็นการช่วยเหลือแบบระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ได้รับผลกระทบขาดรายได้และเดือดร้อนสูงสุดเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าได้เลือกเส้นทางนี้ แต่หากจำเป็นจริงๆ…ไม่เป็นไรค่ะ มาตรการลูกจากเงื่อนไขของธนาคารต่างๆ ยังมีออกมาเรื่อยๆ สามารถเจรจาเพื่อหาหนทางร่วมกันต่อไป
อย่างไรแล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ในกลุ่มประเภทใด ต้องไม่ลืมวางแผนการเงินไว้อยู่ตลอดนะคะ
ร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน วางแผนและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ รอวันที่ทุกอย่างฟื้นตัว เมื่อถึงวันนั้นแล้ว…เราจะเป็นคนที่พร้อมที่สุดค่ะ