จับตาอสังหาฮ่องกง ฝ่าวิกฤตประท้วง
ช่วงที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ชุมนุมที่ฮ่องกงนั้น หลายภาคส่วนทั้งไทยและเทศต่างก็จับตามองอย่างใกล้ชิด อันเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การค้าและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งหมายรวมถึงแวดวงอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน
ชาวฮ่องกงต่างก็มองหาบ้านหลังที่ 2 เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายและช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ เพื่อทดแทนแหล่งเดิม
เป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่าอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงนั้นขึ้นชื่อแพงติดอันดับโลก บวกกับพิษการชุมนุมทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมหาศาล และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ชาวฮ่องกงต่างก็มองหาบ้านหลังที่ 2 เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายและช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ เพื่อทดแทนแหล่งเดิม
อสังหา101 จึงขอพาท่านร่วมวิเคราะห์เหตุการณ์ในมุมของอสังหาริมทรัพย์และทิศทางในอนาคตไปพร้อมกันนะคะ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานว่าอสังหาฯ ของฮ่องกงนั้นถูกจัดอันดับมูลค่าสูงที่สุดมาร่วม 4 ปีแล้ว ตัวอย่างเช่น อพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอนย่านถุน เหมิน (Tuen Mun) ซึ่งห่างจากย่านเซ็นทรัล (Central) ประมาณ 1 ชม.หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า พบว่ามีราคาเทียบเท่ากับราคาอพาร์ทเมนท์หรู 2 ห้องนอนที่นิวยอร์ค กล่าวคือราคาอสังหาฯ พุ่งสูงขึ้นถึง 48% จากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
และจากรายงานของ Demographia พบว่าชาวฮ่องกงต้องใช้เวลาถึง 21 ปีของรายได้โดยเฉลี่ยต่อการซื้ออสังหาหนึ่งที่ หากเทียบกับเมือง Vancouver ซึ่งใช้เวลาเพียง 12.6 ปี และ 8.3 ปีสำหรับเมือง London เท่านั้น ในส่วนของการเช่าห้องชุดก็พบว่ามีราคาค่าเช่าที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับค่าเช่าห้องชุดขนาดเดียวกันที่ ซาน ฟรานซิสโก นิวยอร์ค และซูริค
ทำไมอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงถึงแพง?
ประชากรชาวฮ่องกงมีจำนวน 7.5 ล้านคนในพื้นที่ฮ่องกงรวมทั้งหมด 427 ตารางไมล์ ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนความหนาแน่นแล้วเท่ากับ 17,311 คนต่อตารางไมล์ ถือว่ายังไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่นัก
- จากสภาพความเป็นพื้นที่เกาะ ทำให้ฮ่องกงมีพื้นที่น้อยกว่า 25% ที่จะใช้พัฒนาต่อได้ เพราะพื้นที่จำกัดด้วยเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ และอุทยานต่างๆ จึงทำให้ราคาพื้นที่ยิ่งเพิ่มมูลค่ามากขึ้น
- ยิ่งกว่าอื่นใดทั้งหมดเกาะฮ่องกงเป็นท่ีนิยมสำหรับนักลงทุนและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มาอย่างยาวนาน เพราะมีผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลเข้ามาจึงได้หนุนให้เกิดความต้องการด้านที่อยู่อาศัยและส่งผลให้ราคาไต่ขึ้นสูงมาโดยตลอด…
…ทางเลือกที่เป็นไปได้ คือ การซื้อบ้านที่อื่นทดแทนในฮ่องกง…
ชาวฮ่องกงมองหาบ้านหลังที่ 2 จริงหรือ?
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเหตุชุมนุมประท้วงทำให้มาเลเซีย และเวียดนามกำลังเป็นที่จับตามองแห่งใหม่ต่อจากประเทศไทยซึ่งเป็นที่นิยมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจุดแข็งของประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น คือ การเชื้อเชิญการลงทุนและอยู่อาศัยอย่างเป็นมิตร ด้วยราคาบ้านที่จับต้องได้ ค่าครองชีพย่อมเยาว์ ศักยภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง ไปจนถึงการรองรับ Multiple-Resident Visa สำหรับการซื้อบ้านมากกว่า 1 ล้านริงกิตและยานพาหนะ ซึ่งชาวฮ่องกงให้ความสนใจอย่างพรั่งพรู เกิดการจับจอง 251 ห้องชุดในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจำนวน193 ห้อง
ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพทางการเมืองยิ่งกว่าฮ่องกงในขณะนี้ จึงเป็นเหตุให้หนุ่มสาวให้ความสนใจในการย้ายถิ่นฐานสูงขึ้นกว่า 30%
แล้วอสังหาไทยล่ะ มีโอกาสมั้ย?
ในช่วงที่ผ่านมานับจากการชุมนุม การจัดอีเว้นท์พร็อพเพอร์ตี้จากประเทศไทยในฮ่องกงต่างชะลอดูท่าทีและรอเหตุการณ์คลี่คลายแบบรายวันเลยทีเดียว ส่งผลให้แผนการจัดอีเว้นท์ที่กำหนดไว้ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2019 ยังไม่ชัดเจนนัก
แต่กระนั้น นายเทอเรนซ์ ชาน กรรมการผู้จัดการบริษัท Golden Emperor Properties ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์สรุปความเห็นไว้ว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพทางการเมืองยิ่งกว่าฮ่องกงในขณะนี้ จึงเป็นเหตุให้หนุ่มสาวให้ความสนใจในการย้ายถิ่นฐานสูงขึ้นกว่า 30% ตามข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์
บวกกับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รายงานไว้ว่าภาพรวมในครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์ในด้านอุปสงค์จะปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันอุปทานมีการปรับตัวลดลงเนื่องจากห้องชุดเหลือขายสะสมมาก แต่อย่างไรแล้วในส่วนของภาครัฐก็ออกนโยบายใหม่ๆ ดังเช่น ลดอัตราดอกเบี้ย และผ่อนผันกฎการกู้มากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจนี้ ให้เกิดการระบายห้องชุดที่ตกค้าง ถือเป็นโอกาสอีกต่อให้คนไทยได้จับจองซื้อลงทุนเช่นกัน
นอกจากนี้กรุงเทพฯ ขยายออกชานเมืองมากขึ้นตามเส้นรถไฟฟ้าเปิดใหม่ราคายังไม่สูงนักกลุ่มชาวจีน-ฮ่องกง จึงหันความสนใจมากขึ้น รวมทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต ก็ได้รับความนิยมตามๆกัน
ประมาณการกำลังซื้อของชาวจีน-ฮ่องกง งบประมาณต่อห้องเฉลี่ย 3.5 – 4 ล้านบาทสำหรับกลุ่มชาวจีน และสูงสุด 10 ล้านสำหรับชาวฮ่องกง
แท้จริงแล้วอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังคงได้เปรียบในแง่ของราคา ความเจริญและสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไตรมาสสุดท้ายของปีอาจเป็นโอกาสดีที่อสังหาไทยจะกลับมาเป็นทางเลือกอีกครั้งก็เป็นได้