การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดหรือห้องชุด เป็นสัญญาณที่ดีว่าเรากำลังจะเป็นเจ้าของบ้านหลังใหม่ แหล่งรายได้ตัวใหม่ในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ และเป็นทรัพย์สินมีมูลค่าในชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่างค่ะ
ถ้าพูดถึงกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์แล้วนั้น ก็ถือว่าใกล้ถึงปลายทางการซื้อขายคอนโดแล้วค่ะ นับตั้งแต่เราผ่านขั้นตอนการเลือกเฟ้นโครงการที่ถูกใจที่สุด จ่ายเงินจองทำสัญญา การตรวจห้องอย่างละเอียดทุกพื้นที่ ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนมั่นใจถึงคุณภาพบ้านหลังนี้จริงๆ กว่าจะก้าวมาถึงขั้นตอนการโอน หลายท่านเหนื่อยกับเตรียมการทั้งห้อง ทั้งเอกสาร เป็นระยะร่วมเดือนกันก็ว่าได้
ดังที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (อ.ช.22) ระบุไว้ในข้อ 4.4 ว่าด้วยกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์นั้น โดยปกติ Developer จะให้ระยะเวลาอย่างน้อย 30 วันนับจากวันทำสัญญาฯ เป็นกำหนดการโอนฯ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาจัดเตรียมการตรวจห้อง ซ่อมงาน เตรียมเอกสาร และเตรียมค่าใช้จ่ายสินเชื่อหรือเงินสดก็ตาม นอกจากนี้ในสัญญาฯ ข้อดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ผู้จะขายหรือ Developer ต้องแจ้งกำหนดการโอนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เป็นหนังสือบอกกล่าวด้วย
ดังนั้น หากเราอยู่ช่วงระหว่างเตรียมโอนคอนโด ภายหลังตรวจสภาพห้องชุดเสร็จแล้วนั้น เราจะได้รับ “จดหมายเชิญโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด” ส่งไปยังที่อยู่จัดส่งเอกสารของเรา ซึ่งจะระบุวัน เวลา และสาขาของสำนักงานที่ดินที่เราต้องไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ค่ะ และแน่นอนค่ะว่า…เราควรติดต่อกลับไปยังโครงการเพื่อยืนยันกำหนดการโอนฯ อีกครั้งเพื่อป้องกันการสื่อสารผิดพลาดนะคะ
อย่างไรแล้ว อสังหา 101 ขอแนะนำวิธีเตรียมความพร้อมโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของเราอย่างง่ายๆ เพื่อให้ฤกษ์การซื้อบ้านใหม่ของเราผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น ดังนี้ค่ะ
Developer ต้องแจ้งกำหนดการโอนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เป็นหนังสือบอกกล่าว
1.เตรียมเงินให้พร้อม
การซื้อขายใดๆ ก็ตามเรื่องเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยิ่งมูลค่าบ้านชิ้นใหญ่ เราจึงต้องเตรียมความพร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ล่วงหน้าและครบถ้วน อันประกอบไปด้วย
- ค่างวดสุดท้าย หรือ ค่าห้องชุดส่วนที่เหลือ ตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ 4.2 หลังหักเงินจอง เงินทำสัญญา และเงินค่างวดรายเดือน ที่ได้ชำระให้ Developer ไปก่อนหน้านี้แล้ว
- ค่าส่วนกลาง หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์ส่วนกลาง โดยเก็บล่วงหน้า 12 เดือนให้แก่นิติบุคคล ภายใต้กฎหมายอาคารชุด
- ค่ากองทุน หรือเงินสำรองในการบริหาร ดูแลรักษา ปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง โดยชำระเพียงครั้งเดียว ให้แก่นิติบุคคล ภายใต้ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด
- ค่ามิเตอร์ไฟฟ้าและเงินประกัน ตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ 5.4 ที่ผู้จะซื้อต้องรับผิดชอบมาตรวัดสาธารณูปโภคนี้เอง
- ค่าธรรมเนียมการโอน 2% แบ่งจ่ายคนละครึ่งระหว่างผู้จะซื้อและผู้จะขาย ตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ 6 โดยคิดจากราคาประเมินหรือราคาขาย อย่างใดอย่างหนึ่งที่มูลค่าสูงกว่า
- ค่าจดจำนอง 1% ของมูลค่าจำนวนเงินกู้ทั้งหมด ชำระให้แก่กระทรวงการคลัง (กรมที่ดิน) สำหรับผู้จะซื้อที่กู้สินเชื่อธนาคารเท่านั้น
โดยปกติโครงการจะจัดทำใบรายการค่าใช้จ่าย ณ วันโอนฯ ซึ่งแจกแจงตัวเลขและวิธีการชำระว่าต้องเป็นเช็ค สั่งจ่ายใครบ้าง จำนวนเงินเท่าไหร่ เราควรตรวจสอบตัวเลขเสมอว่าตรงกับการจ่ายจริงหรือไม่ เพื่อกรณีตกหล่นคำนวนขาดเกินอะไรไปจะได้แก้ไขทันค่ะ
หากสงสัยตัวเลขใด ควรสอบถามเจ้าหน้าที่โครงการ เพราะบางครั้งหลักเกณฑ์การคำนวนที่เราเข้าใจอาจไม่ถูกต้องซะทีเดียวก็เป็นได้ ดังนั้น สอบถามวิธีการคำนวนตัวเลขแต่ละตัวให้กระจ่างไปเลยย่อมดีที่สุดค่ะ
2.เตรียมชำระด้วยเงินสด หรือ สินเชื่อ
หากเราซื้อห้องด้วยเงินสดพร้อมจ่ายได้เลยทันที หลังจากตรวจห้องเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น เราก็สามารถนัดวันโอนกรรมสิทธิ์กับโครงการ และเตรียมซื้อแคชเชียร์เช็คตามที่โครงการแจ้ง จบขั้นตอนซื้อขายปุ๊ปปั๊ปทีเดียวค่ะ
หรือ หากเลือกใช้สินเชื่อธนาคารชำระในวันโอนฯ และผ่อนจ่ายรายเดือนกับธนาคารต่อไปนั้น เราต้องให้ความร่วมมือจัดเตรียมเอกสารตามเงื่อนไขธนาคาร และยื่นเรื่องล่วงหน้าก่อนวันโอนฯ อย่างน้อย 1-2 อาทิตย์ หรือสามารถติดต่อธนาคารได้ทันทีหลังจากเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายฯ เสร็จค่ะ จากนั้นรอผลอนุมัติว่าผ่านหรือไม่ ยอดวงเงินที่ขอกับยอดวงเงินที่ได้เพียงพอคลุมทุกค่าใช้จ่ายหรือไม่ กรณีนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่สะดวกชำระเงินสดจากกระเป๋า หรือเจอดอกเบี้ยธนาคารก็ดึงดูดใจให้เราไม่จำเป็นต้องควักเงินสดทันที เผลอๆ อาจเจอแจ็กพอตโปรโมชั่นสวยๆ 0% ของธนาคารก็เป็นได้ค่ะ
สำหรับใครที่ติดเครดิตบูโร หรือแบล็กลิสต์นั้นอาจไม่ผ่านพิจารณาอนุมัติธนาคาร แนะนำว่าก่อนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ควรตรวจสอบสถานะการเงิน และเคลียร์เครดิตล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือนค่ะ
ก่อนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ควรตรวจสอบสถานะการเงิน และเคลียร์เครดิตล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน
3.เตรียมเอกสารส่วนตัว
เอกสารส่วนตัวที่เราต้องเตรียมในวันโอนฯ จะเป็นไปตามสถานะปัจจุบันค่ะ นั่นคือ สถานะโสด หย่า หม้าย สมรสชาวไทย สมรสต่างชาติ ผู้เยาว์ บริษัท ดังนั้นเอกสารที่ต้องจัดเตรียมก็คือ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ใบสำคัญการหย่า หนังสือรับรองบริษัท ฯลฯ เพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินในวันโอนกรรมสิทธิ์ค่ะ
โดยปกติเจ้าหน้าที่โครงการจะเรียกเก็บเอกสารเหล่านี้ล่วงหน้าก่อนวันโอนฯ เพื่อจัดทำชุดเอกสารราชการต่างๆ ให้พร้อมที่สุดและไม่ให้เกิดปัญหาขอเรียกเอกสารเพิ่มจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน
ประเด็นสำคัญ คือ หน้าเอกสารต้องพิมพ์ชัดเจนทุกตัวอักษร และลายเซ็นกำกับสำเนาถูกต้องของเราต้องเหมือนกันทุกเอกสารนะคะ
4.เตรียมเอกสารราชการ
กล่าวคือ เอกสารประกอบใช้ในราชการ และต้องแสดงที่สำนักงานที่ดินที่ในวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดร่วมด้วย เช่น
- หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่เราไม่สะดวกไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ด้วยตนเองที่สำนักงานทื่ดิน เราสามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลอื่นไปแทน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เราสามารถมอบให้เจ้าหน้าที่โครงการไปดำเนินการในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้เช่นกัน ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งจาก Developer ค่ะ
- หนังสือยินยอมคู่สมรส ใช้กรณีแจ้งสมรสไม่จดทะเบียน
- หนังสือยินยอมสินส่วนตัว ใช้กรณีสมรสแต่ประสงค์ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่สินสมรสแต่อย่างใด
โดยปกติทุกโครงการจะบริการจัดเตรียมเอกสารเหล่านี้ให้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานะปัจจุบันของเราค่ะ ประเด็นสำคัญ คือ ข้อมูลในเอกสารต้องถูกต้อง และลายเซ็นกำกับสำเนาถูกต้องของเราต้องเหมือนกันทุกเอกสารนะคะ
5.รับมอบโฉนดและเอกสารจากสำนักงานที่ดิน
ห้องพร้อม เงินพร้อม เอกสารพร้อม เพียงเท่านี้เราก็สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้แล้วค่ะ ปกติใช้เวลา 1 วันทำการก็จบกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน โดยเอกสารที่เราจะได้รับหลังจากโอนห้องชุดเสร็จแล้ว คือ โฉนดห้องชุด (อ.ช.2) สัญญาซื้อขายห้องชุด (อช.23) สัญญาจำนอง (เฉพาะผู้กู้สินเชื่อธนาคารเท่านั้น) และใบเสร็จค่าธรรมเนียมที่เราชำระค่ะ
6.กล่องกุญแจ
ภายหลังโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเสร็จสิ้นแล้วนั้น ทางโครงการจะนัดหมายเราเพื่อส่งมอบกล่องกุญแจบ้าน ซึ่งประกอบไปด้วย กุญแจห้อง รีโมท ทะเบียนบ้าน คีย์การ์ดและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ภายในห้องชุดและโครงการค่ะ โดยปกติจะส่งมอบกล่องกุญแจนี้ที่โครงการกันค่ะ
เราควรตรวจสอบอุปกรณ์ในกล่องทั้งหมดอีกครั้ง ว่าอยู่ในสภาพดีใช้การได้และถูกต้องทั้งหมด ก่อนเซ็นรับของนะคะ
อสังหา 101 ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ซื้อทุกท่านที่มาถึงขั้นตอนนี้ค่ะ โดยหวังว่าอสังหาริมทรัพย์นี้จะเติมเต็มและส่งเสริมคุณภาพชีวิตไปในทางที่ดียิ่งๆ ขึ้นนะคะ