เราคงสดชื่นไม่น้อย ถ้าเช้าวันที่แสนสดใสนั้นๆ เราตื่นขึ้นมาเพราะน้องแมวปุกปุยคอยมาวนเวียนปลุกเราใกล้ๆ …
หลายๆ ท่านตกเป็นทาสแมวกันระนาว ถ้าได้เจอเจ้าเหมียวออดอ้อนใส่แบบไม่ยั้ง ผู้เขียนก็เช่นเดียวกันค่ะ สัตว์เลี้ยงที่ขึ้นชื่อว่ารักสันโดษยิ่งกว่าใครกลับชอบทำให้ใครๆ หลงรัก ทำเอาเหล่าทาสแมวยอมทุ่มทุกอย่าง เพื่อเจ้าลูกชายลูกสาวแสนซนตัวนี้จริงๆ
โดยเฉพาะหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องที่อยู่อาศัย ที่หลับที่นอนของเจ้าแมวน้อยนี่เอง หลายๆ ท่านเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงที่บ้าน (แบบบ้านเดี่ยว มีพื้นที่สวน) ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบระบบเปิด ให้น้องแมววิ่งเล่นได้อย่างอิสระสนุกสนาน แต่เราก็มักเจอปัญหาน้องหนีเที่ยว กลางวันหาตัวไม่เคยเจอ ไม่รู้ไปเตร่ที่ไหน ไปฟัดกับแมวเจ้าถิ่นหรือป่าวก็ไม่รู้ได้ กลับมาเผลอๆ เจ็บหนัก ต้องวุ่นวายพาหาหมอด่วนๆ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว
จึงเริ่มมีการเลี้ยงน้องแมวแบบระบบปิด ปรากฎว่าได้ผล วิธีการนี้โดนใจเจ้าของและเข้ากับพฤติกรรมของเจ้าสัตว์เลี้ยงประเภทนี้ได้ดีไม่แพ้กัน แล้วระบบปิดที่ว่านี้ เราจะเลี้ยงที่ไหน? อย่างไรดี?
การเลี้ยงแมวระบบปิด
การเลี้ยงระบบปิด คือ การจำกัดบริเวณ ไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราเพ่นพ่านไปยังสถานที่อื่น ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- ความปลอดภัยของน้องแมวด้านร่างกาย ป้องกันการต่อสู้กับแมวจรตัวอื่น และยังห่างไกลโรคที่อาจนำมาติดต่อได้
- ความปลอดภัยทางด้านจิตใจ แมวเป็นสัตว์ชอบอาณาเขต เรามักจะเห็นคลิปแมวซ่อนตัวในกล่อง นั่งอยู่ใจกลางเส้นวงกลม หรือกระโดดขึ้นที่สูงนั่งสบายอารมณ์ริมขอบหน้าต่างไปเลย นั่นก็เพราะแมวรู้สึกปลอดภัยใน Safe Zone ของตนเอง
- เสริมสร้างนิสัยเชื่องต่อเจ้าของ อ่อนโยนและออดอ้อน ข้อนี้เห็นกันชัดๆ เลยค่ะ หากเราไปพบเจอแมวจรที่ผ่านศึกข้างถนนมาเยอะ พฤติกรรมการเอาตัวรอดจะแตกต่างกัน หรือโหดกว่านิดหน่อย อย่างว่า…ก็เจนจัดประสบการณ์มาไม่น้อย ข้อนี้ก็พอเข้าใจได้เลยค่ะ
คนรักสัตว์ย่อมเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงเพื่อความบันเทิงหรือตามความนิยม
แต่ข้อควรระวังก็มีไม่น้อยนะคะ โดยเฉพาะโรคภัยจากการเลี้ยงระบบปิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต โรคข้อต่ออักเสบ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เจ้าเหมียวเกิดโรคเหล่านี้ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการดูแลดี๊ดีของทาสแมวทั้งหลาย ที่จัดหาอาหาร ขนม ของว่างมาให้ตลอดๆ ก็อาจจะต้องเบรกๆ กันนิดนึง หรือหาอุปกรณ์ออกกำลังกายอะไรมาให้เล่นบ้าง รวมทั้งต้องรักษาสุขลักษณะที่ดี
อีกประเด็น คือ อย่าลืมเฝ้าระวังสังเกตุพฤติกรรมเสมอว่า เจ้าแมวของเราเครียดหรือไม่? เพราะนิสัยน้องแต่ละตัวย่อมไม่เหมือนกัน บางตัวเอ็นจอยกับระบบปิดมาก เพราะบ้านมีทุกอย่างพร้อมสรรพ หรือรักการนอนในอาณาเขตที่ปลอดภัยอย่างบ้านเป็นที่สุด แต่บางตัวอาจรักอิสระ ชอบสอดส่อง อยากออกท่องเที่ยวบ้างตามนิสัยนักล่าเช่นกัน
การเลี้ยงน้องแมวในคอนโด
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกระแสด้านบวก ที่ผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆ มีนโยบายตอบรับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยกว้างขวางมากขึ้น เอาใจคนรักสัตว์ ด้วยนโยบาย Pet-Friendly ถือว่าเป็นเรื่องดีทีเดียว เพราะ “คนรักสัตว์ย่อมเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงเพื่อความบันเทิงหรือตามความนิยม”
การคัดเลือกคอนโดเพื่อเป็นบ้านของน้องแมวคู่ใจ เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลายควรเลือก “โครงการที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้เท่านั้น” ไม่แนะนำให้แอบเลี้ยงในโครงการที่ไม่อนุญาต เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่อาศัย ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น
อย่าลืมค่ะว่า… คอนโดเป็นสังคมของคนหมู่มากที่อาศัยอยู่ร่วมกัน มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบสัตว์ อาจจะด้วยเหตุผลไม่คุ้นชิน แพ้ขนสัตว์ กลัวโรคภัย หรือมีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เช่น โดนกัด เหตุผลเหล่านี้หากนึกถึงใจเขาใจเรา ก็ยอมรับได้เช่นกันค่ะ
กฎระเบียบการเลี้ยงสัตว์ในคอนโด
การเลี้ยงสัตว์ที่ดีนอกจากศึกษาวิธีการเลี้ยงดู การใช้ชีวิต อาหาร บริการ วัคซีน สุขภาพอย่างถ่องแท้แล้ว เราอย่าลืมดูปัจจัยรอบตัวอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย อันไม่ใช่ที่ของเราแค่คนเดียวด้วยนี่ซิ…
การเลี้ยงแมวหรือสัตว์เลี้ยงใดๆ ก็ตามในคอนโด เราควรศึกษาทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติทั้งหมดเสียก่อน และประเมินว่าเราปฏิบัติตามได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้การเลี้ยงสัตว์กลายเป็นภาระ และหลีกเลี่ยงการถูกร้องเรียน สร้างความปวดหัวให้กับเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน
1. ลงทะเบียนประวัติสัตว์เลี้ยงทุกปี
2. ชำระค่าธรรมเนียม โดยหลักปฏิบัติคิดแยกตามจำนวนตัวต่อปี คิดเป็นค่าทำนุบำรุง น้ำยาฆ่าเชื้อ ค่าประกันความเสียหาย
ภายหลังลงทะเบียนแล้ว นิติบุคคลจะมีบัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยงเพื่อยืนยันสถานะความเป็นเจ้าของ
เลือกโครงการที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้เท่านั้น...เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่อาศัย ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น
สิ่งที่พึงระวัง
การเลี้ยงสัตว์ในคอนโดที่ดี ต้องไม่ปล่อยให้น้องเพ่นพ่านสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลและสถานที่นะคะ
1. ไม่สร้างความสกปรกให้แก่พื้นที่ส่วนกลาง
ข้อนี้ต้องพึงระวังดีๆ บางทีน้องๆ อาจถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง เราก็ตามเช็ดถูทำความสะอาดจุดที่เลอะเทอะอย่างดีนะคะ
2. ไม่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ส่วนกลาง
เช่น กัด แทะ ขูด ในกรณีเราเอาน้องแมวมาเดินเล่นข้างนอกบ้าง แล้วน้องแมวอาจเผลอลับเล็บกับเฟอร์นิเจอร์ อาจเป็นเหตุให้ข้าวของเครื่องใช้ส่วนรวมพัง ชำรุดค่ะ
3. ไม่สร้างความรำคาญ เดือดร้อน กลิ่น เสียง อันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
อาจมีบางครั้งที่น้องแมวปีนป่าย ซุกซนไประเบียงห้องข้างๆ บ้าง หรือวิ่งเล่นส่งเสียงร้องดังบ้าง เจ้าของห้องอาจต้องติดฉนวนป้องกันเสียง หรือมุ้งลวดกันน้องหลุดได้ค่ะ
4. ใช้ลิฟต์ขนของแทนที่ลิฟต์โดยสาร ทั้งนี้ เพื่อสุขอนามัยไม่ปะปนกันกับเจ้าของร่วมท่านอื่น
5. ไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ
ข้อนี้เจ้าของต้องเฝ้าระวังอย่างดี มีสายจูงแมว อุ้ม ใส่ตะกร้าหรือรถเข็น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด
หากฝ่าฝืน กระทำผิดกฏ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น จะโดนปรับเงิน (ตามอัตราของโครงการนั้นๆ) บทลงโทษตามกฎระเบียบข้อบังคับ ไปจนถึงไม่อนุญาตให้เลี้ยงอีกต่อไปค่ะ
เลี้ยงน้องแมวไม่ให้มีดราม่าง่ายๆ แค่ทำตามกฎที่พักอาศัย ก็อยู่กันอย่างเป็นสุขแล้วค่ะ ไว้บทถัดไปจะเล่าถึงของเล่น อุปกรณ์แมวดีๆ เพื่อส่งเสริมให้น้องแมวคู่ใจของเราสุขภาพแข็งแรงได้ แม้เลี้ยงในห้องเล็กๆ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดค่ะ ไว้ติดตามกันนะคะ