ไม่แปลกอะไรครับที่ตอนนี้เรากำลังรู้สึกเครียด กังวล และไม่แน่ใจกับอนาคต… จริงๆ ไม่ใช่อนาคตด้วยซ้ำ บางท่านยังรู้สึกไม่แน่ใจกับวันนี้เอาเสียเลย…
ทุกครั้งที่มีโอกาสและอยู่ในสภาวการณ์คาบลูกคาบดอกเช่นนี้ ผมมักนึกถึงผู้บริหารท่านหนึ่งกับคำว่า “อย่าเครียด เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” เลยอยากนำมาเขียนไว้เพื่อแชร์มุมมองในเชิงสร้างสรรค์ว่า “พรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้เสมอ” ครับ
คงไม่เร็วเกินไปนะครับ...ถ้าจะเขียนถึงวันเวลาที่ปัญหาต่างๆ มันผ่านไปแล้ว
ลองยกตัวอย่างเรื่องการทำงานแล้วเจอปัญหาดูบ้าง ด้วยประสบการณ์ของทุกท่านคงหาทางออก (Solution) กันอยู่เสมอๆ ปัญหามีมาทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาทีเป็นปกติครับ… ผมยังเชื่อเสมอว่าใครเจอปัญหาบ่อยๆ เป็นคนที่น่าอิจฉา เพราะมันคือประสบการณ์ที่ทำให้เราได้ใช้มันสมองไปในทางที่คู่ควรกับศักยภาพของมัน
เมื่อเจองานใหญ่งานใหม่ ผมก็จะคิดเสมอว่า “อย่าเครียด เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” แล้วเอาเวลาที่ผมจะเครียดกับสิ่งต่างๆ มาเป็นเวลาในการให้พลังสมองทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพดีกว่า
สมมติว่าพรุ่งนี้จะต้องมี Presentation ครั้งสำคัญ เพื่อนำเสนอลูกค้าผู้บริหารระดับสูง ใช่ครับ… “อย่าเครียด เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ผมเอาเวลาที่ทุกท่านอาจจะเสียไปกับความเครียดมานั่งซ้อม เลือกหาจังหวะการพูดที่เหมาะสม ทำการบ้านกับเรื่องสิ่งที่เราจะนำเสนอ และหาวิธีปิดการขายเสียดีกว่า เป็นต้น
ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาสร้างความบั่นทอนเพิ่มเติมในช่วงเวลาวิกฤติเหล่านั้นครับ…
และคงไม่เร็วเกินไปนะครับ…ถ้าจะเขียนถึงวันเวลาที่ปัญหาต่างๆ มันผ่านไปแล้ว ลองมาดูครับว่าหลังวิกฤตต่างๆ เหล่านั้น พอมันผ่านไป…ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปได้อย่างไรบ้าง
เกิดสมดุลย์แห่งอารมณ์และความคิดวิเคราะห์
จากข้อมูลที่ถาโถมเข้ามานั้นยากจะปิดรับได้ ทุกสัมผัสถูกกระตุ้นให้เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ แทบจะทุกวินาที บางทีระบบปฏิบัติการของร่างกายก็ไม่สามารถแยกส่วนได้ คงเป็นเพราะมนุษย์มีความแตกต่างทางด้านอารมณ์
บางท่านอาจจะเริ่มปิดรับบ้างเมื่อมีประสบการณ์ที่ผิดหวังกับข้อมูลที่ผิด และเริ่มที่จะเลือกรับข้อมูลที่ถูกต้องมาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ได้มากขึ้น เริ่มแยกแยะว่าข้อมูลไหนควรใช้อารมณ์หรือความคิดวิเคราะห์ และในที่สุด…ข้อมูลเหล่านั้นจะนำไปสู่พฤติกรรมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตได้
ลองมองดูปัญหาที่ผ่านมาเป็นบทเรียนครับ และหลายครั้งผมได้ใช้การเรียนรู้ (Learning) จากปัญหาที่ผ่านมาเพื่อทำงานใหญ่ครั้งต่อไป ผมมักจะประชุมสรุปผลงานที่ผ่านมาและบันทึก Learning ไว้เสมอ แบ่งปันให้กับทีมงานไม่ว่าจะเป็นรุ่นปัจจุบันหรือรุ่นต่อไป บางครั้งก็กับทีมอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานด้วยกัน และทุกๆ ครั้งเราจะได้ใช้การวิเคราะห์ใหม่ๆ เสมอถ้าได้เจอปัญหาอะไรใหม่ๆ ร่วมกัน
เริ่มปลดปล่อย ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
เริ่มด้วยการ “ปลดปล่อย” สิ่งที่ไม่จำเป็นบางอย่างระหว่างนี้ มันดีที่จะทำให้ชีวิตเบาขึ้น เลือกเก็บไว้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต เช่นสิ่งที่เราคุ้นเคยและช่วยเราให้หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ บางที…ของบางอย่างอาจจะไร้คุณค่าไปเลยก็ได้ ลองถามตัวเองดูครับว่า “ยังต้องการอีกไหม?” สิ่งเหล่านั้นเพิ่มมูลค่าหรือเป็นภาระให้ชีวิตของคุณในอนาคต…
ลองมาดูครับว่าหลังวิกฤตต่างๆ เหล่านั้น พอมันผ่านไป...ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปได้อย่างไรบ้าง
ตามด้วยการ “ปรับปรุง” สิ่งที่คุณคัดสรรแล้วว่ามีอะไรที่คุณสามารถดัดแปลงให้ดีขึ้นได้หรือไม่ บางทีคุณอาจจะอยากรวมของ 3 อย่างให้เป็นสิ่งเดียวกันเพื่อประหยัดพื้นที่และให้พื้นที่เดิมกับสิ่งใหม่ที่คุณอยากจะ “เปลี่ยนแปลง” เพิ่มเติม
ไม่ผิดที่คุณจะมองหาสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนหรือเพิ่มเติม เพราะสิ่งเก่าๆ ที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการหลังวิกฤต ซ้ำคุณอาจจะยังต้องการสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น เพื่อดำรงชีวิตระหว่างวิกฤติการณ์ถัดไปในอนาคตอันใกล้นี้ มันเป็นความโชคดีที่คุณจะได้ค้นพบว่าชีวิตมีความยืดหยุ่นได้ตลอดเวลาครับ
ค้นพบสัมพันธภาพที่แท้และยั่งยืน
ช่วงวิกฤตนี่แหละครับ…ที่จะทำให้คุณได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ รอบกาย โดยส่วนมากสิ่งที่ใกล้ชิดมักเป็น “ตัวบุคคล” ที่ร่วมงานด้วย หรือคนที่คอยเป็นกำลังใจให้คุณระหว่างที่คุณเจอปัญหาเหล่านั้น คนที่คุณจะหันไปมองเป็นลำดับแรกๆ เพื่อเป็นตัวช่วยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม บางครั้งการขอคำปรึกษาเป็นทางออกที่ดีถ้าคุณทราบว่าคนๆ นั้นได้เคยผ่านปัญหาที่คล้ายเคียงกันมาก่อน
คนที่คุณพึ่งพาได้จะเริ่มปรากฏตัว แม้คนที่คุณอาจจะมองข้ามไปหรือไม่เคยนึกถึง โอกาสเหล่านี้ทำให้คุณได้กระชับความสัมพันธ์เดิมที่ดีขึ้นพร้อมค้นพบความสัมพันธ์ใหม่โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว
และไม่ใช่แค่ตัวบุคคลเท่านั้นครับ คุณจะค้นพบ “ตราสินค้า” (แบรนด์) หรือแม้กระทั่ง “องค์กร” ที่จะเป็นเพื่อนคุณระหว่างวิกฤตการณ์นี้ด้วย และเป็นโอกาสสำคัญที่คุณจะสานสัมพันธ์กลับคืนไป
สิ่งที่ผมสนใจมากก็คือ..ผมว่าเราอาจจะไม่ต้องฝึกพฤติกรรมด้านบนเหล่านี้เลยก็ได้ เราจะพัฒนาให้มันมาเป็นนิสัยในช่วงวิกฤตนี้และบางทีจะทำให้เราสร้างทัศนคติใหม่ได้เลยกับสิ่งที่มาตกกระทบเราในอนาคต
ในทุกปัญหาคุณมักมีตัวช่วยอยู่เสมอ และจากประสบการณ์ที่คุณมี คุณมักจะวางตำแหน่งของทีมงานหรือมือขวาของคุณในที่ต่างๆ กัน เพื่อให้เขาได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่จากแรงสนับสนุนของคุณ และไม่แปลกอะไรที่คุณจะมีมือขวามากกว่า 1 มือ (คน) เสมอ
สุดท้ายนี้..อย่าลืมว่า คุณก็เป็นตัวช่วยของใครอีกหลายคน เค้าเหล่านั้นยังต้องการความช่วยเหลือของคุณระหว่างวิกฤตนั้นเสมอ ขอเป็นกำลังใจเพื่อช่วยกันทำชีวิตของสังคมเราให้ดีขึ้นครับ