อยู่ๆ ผมก็นึกถึงบรรยากาศของเย็นวันสุข (ศุกร์) ขึ้นมา เอาจริงๆ ก็นึกถึงตอนที่ยังทำงานประจำในหลายๆ บริษัทฯ ที่ผ่านมาครับ ยังจำความรู้สึกได้ที่ทุกคนเฝ้ารอวันสุขที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเย็นๆ…
ไม่ว่าวันนั้น สัปดาห์นั้นจะผ่านอะไรมา ดูเหมือนว่าทุกวันสุขจะเป็นวันที่จะปลดปล่อยและคลี่คลายสิ่งเหล่านั้น หรือเริ่มวางแผนพักผ่อน แต่บางครั้งก็เกินความคาดหมาย เพราะไม่ว่าจะวันไหนก็มักจะเป็นวันสำคัญในเรื่องงานอยู่เสมอๆ ทั้งๆ ที่หลายๆ คนก็พยายามจะหลีกเลี่ยงนัดหรือประชุมสำคัญในวันสุขอยู่เป็นประจำ แต่ยิ่งเลี่ยงเหมือนยิ่งดึงดูด
วันสุขไม่ใช่มีได้แค่สัปดาห์ละหนึ่งวันเท่านั้น
วันสุขที่ทุกคนเฝ้ารอก็มักจะเป็นวันที่มีประชุมหรือนัดลูกค้าสำคัญๆ อยู่เสมอ ซ้ำร้ายบางทีต้องวางแผนที่จะทำงานในวันสุดสัปดาห์เสียด้วยซ้ำ เพราะงานไม่เคยมีคำว่า “เสร็จ” (จริงๆ)
แต่วันสุขไม่ใช่มีได้แค่สัปดาห์ละหนึ่งวันเท่านั้นครับ ผมลองหาวิธีการบริหารตัวเองในรูปแบบต่างๆ เผื่อบางท่านจะลองดูนะครับ
เปลี่ยนความหมายของคำว่า “งานสำคัญ”
งานที่สำคัญไม่ใช่งานใหญ่เสมอไปครับ ผมให้ความหมายของคำว่า “งาน” ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป และบางทีถ้าเราเปลี่ยนนิยามของคำว่างาน พฤติกรรมในการทำงานของเราและคนรอบข้างจะเปลี่ยนไปเช่นกัน
“งานสำคัญ” สำหรับผมคือ “การพัฒนาทีมงาน” ครับ ผมเริ่มใช้นิยามนี้มาในช่วงที่ผมเริ่มมีโอกาสได้ทำงานกับคนหลากหลาย ทั้งในเชิงตำแหน่ง ประสบการณ์ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ ผมเริ่มสังเกตุศักยภาพของแต่ละคนในวิธีการที่แตกต่างออกไป ในเรื่องงานและเรื่องชีวิตส่วนตัว (ต้องยอมรับว่าตามประสบการณ์แล้ว 2 สิ่งนี้ส่งเสริมและเกื้อหนุนกันตลอดเวลา)
“งานสำคัญ” สำหรับผมคือ “การพัฒนาทีมงาน”
ทัศนคติ ประสบการณ์ วิธีการบริหารจัดการ และวิธีปฏิบัติของแต่ละคนแตกต่างและหลากหลายมาก และบางทีการให้นิยามแบบนี้ทำงาน ผมสามารถทำให้ชีวิตของทีมงานดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
กำหนดเวลาที่จะทำงานแต่ละอย่าง
ผมคิดเสมอว่าเราจะทำ “งาน” ได้มากขึ้น ถ้าเราใช้ “เวลา” ในการทำงานนั้นๆ น้อยลง และสิ่งที่สำคัญคือต้องเริ่มฝึก “ความชำนาญ”
ลองสังเกตุจาก… วิธีการใช้ Smartphone หรือ Computer ของคุณก็ได้ครับ เมื่อคุณใช้งานสิ่งเหล่านั้นชำนาญขึ้น อุปกรณ์เหล่านั้นจะทำงานช้าลง ซึ่งบางทีอุปกรณ์เหล่านั้นทำงานด้วยความเร็วใกล้เคียงเดิม แต่กลับเป็นว่าคุณสามารถใช้ Function ต่างๆ ได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น และบางทีคุณจะบ่นกับตัวเองเสมอว่าทำไมอุปกรณ์เหล่านั้นมันช้าลง ทั้งๆ ที่จริงอาจจะไม่ใช่ (ขออนุญาตแยกไม่พูดถึงเรื่อง Technical ต่างๆ ด้านเทคโนโลยีนะครับ)
ผมเริ่มตัดทอนเวลาในการทำงานลงทีละเล็กทีละน้อย คุณสามารถเริ่มจากการสังเกตุว่าคุณเสียเวลาไปกับอะไรบ้างในแต่ละวัน และเริ่มฝึก “ความชำนาญ” ให้ตัวคุณเองและทีมงานในงานบางงานไปพร้อมๆ กันได้
เราจะทำ “งาน” ได้มากขึ้น ถ้าเราใช้ “เวลา” ในการทำงานนั้นๆ น้อยลง และสิ่งที่สำคัญคือต้องเริ่มฝึก “ความชำนาญ”
ควบคุมคุณภาพของงาน
สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ เรื่องเกี่ยวกับ “คุณภาพ” และเมื่อคุณละเลยสิ่งนี้ มันอาจจะมีผลในระยะยาวได้ และในบริบทนี้ “คุณภาพของงาน ก็คือ คุณภาพของทีมงาน” ของคุณครับ
ผมจะเริ่มสังเกตุความเปลี่ยนแปลงของคุณภาพในระหว่างทดลองทำงานกับทีมงานควบคู่กันไป ทั้งนี้ในบางขั้นตอนเป็นการควบคุมในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการปฏิบัติ
ผมจะให้ทีมงานปฏิบัติจริงไปพร้อมๆ กับการแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองเสมอ เพราะบางทฤษฎีได้มาจากการปฏิบัติจริงตามประสบการณ์ และบางการปฏิบัติจริงไม่มีในทฤษฎี เช่น วิธีการทำงานของคนหลายคนไม่เหมือนกันแต่กลับได้คุณภาพของงานที่เท่าเทียมกัน
การสังเกตุพฤติกรรมในการทำงานของทีมงานจะทำให้คุณเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องการควบคุมคุณภาพของงาน และในทางกลับกันคุณสามารถดูแลการให้คำแนะนำของคุณได้ด้วยปฏิกิริยาที่สะท้อนมาจากทีมงานของคุณเองในระหว่างทำงานนั้นๆ…
ควบคุมคุณภาพของชีวิต
ทุกคนน่าจะมีนิยามของคำว่า “คุณภาพชีวิต” ที่หลากหลายนะครับ…
ส่วนตัวผมใส่ใจและขอแนะนำให้ทุกคนดูแล “สุขภาพ” ครับ ไม่ว่าจะเป็น สุขภายกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางการเงิน พยายามหาวิธีที่จะสร้างสมดุลย์ให้สิ่งเหล่านี้ และพัฒนาให้เป็นภูมิคุ้มกันสำหรับตัวเอง ถ้ามีโอกาส…คุณอาจจะแบ่งปันภูมิคุ้มกันนี้ให้ครอบครัว คนที่คุณรัก ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนที่คุณเพิ่งเคยรู้จัก
ไม่มีนิยามที่ผิดสำหรับผม เพราะบางทีนิยามจะมีวิวัฒนาการตามกาลเวลา ช่วงอายุ หรือปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ถ้ามีเวลาช่วงหลังเลิกงาน ลองวิเคราะห์ว่าภูมิคุ้มกันจากคุณภาพชีวิตที่คุณมี…แข็งแรงพอหรือยัง? ลองปรับเปลี่ยนวิธีดูบ้างก็ไม่ผิดอะไรครับ เริ่มทดลองและสังเกตุดูความเปลี่ยนแปลงเป็นบทเรียนบ้าง อะไรที่ดีก็นำมาประยุกต์ใช้ในอนาคต อะไรที่ผิดก็ไม่ว่ากันครับ
สำหรับผม เมื่อมีโอกาสผมมักจะใช้เย็นวันสุขเพื่อพบปะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานแบบสบายๆ บ้าง แวะไปพบเพื่อนเก่าๆ บ้าง ออกไปดูอะไรใหม่ๆ บ้าง หรือบางทีถ้าแบตหมดจริงๆ ก็ตรงกลับบ้านทันที ด้วยความคิดว่าชีวิตวุ่นวายมาตลอดสัปดาห์แล้ว ขอใช้เวลาพักผ่อนกับตัวเองบ้าง…
บางทีกลับบ้านอาบน้ำอุ่น ใส่เสื้อผ้าสบายๆ หยิบรีโมทมาเปิดดูรายการที่ชอบบ้าง ทิ้งตัวลงบนโซฟาสักพัก หยิบผลไม้ที่เตรียมไว้มารับประทานแทนอาหารเย็นเบาๆ ก็เป็นการคลายความเครียดจากภาระต่างๆ ได้ดี
ถ้ายังพอมีแรงบ้างหลังจากนั้น ผมคงจะหาโอกาสทักทายกีต้าร์ตัวโปรดหรือเสียบปลั๊กดิจิตัลเปียโนดู เผื่อจะได้พบกับเมโลดี้ใหม่ๆ ก่อนนอน
หวังว่าประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ “ทุกวันเป็นวันสุข” ของทุกๆ ท่านได้ ไว้มีโอกาสตอนเย็นๆ เจอกัน (อีก) บ้างนะครับ