ปัจจุบันนี้ เราจะเห็นข่าวน่ายินดีของการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยต่อขยายจากตัวเมืองกรุงเทพฯ สู่พื้นที่นอกเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่าความเจริญเองก็วิ่งตามเส้นรถไฟฟ้าเช่นกันค่ะ สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่าความเจริญเข้าถึง คือ การผุดขึ้นคอนโดใหม่ๆ เกาะแนวรถไฟฟ้า ตามมาด้วยตัดเส้นถนน ห้างร้าน ผู้คนที่หนีความแออัดจากกรุงเทพรอบในสู่รอบนอก
บวกกับเทรนด์การอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ เริ่มเข้าหาคอนโดมิเนียม แทนที่จะเลือกบ้านเดี่ยว หรืออพาร์ทเม้นท์เหมือนแต่ก่อน เพราะ คอนโดเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินส่วนตัวที่เพิ่มมูลค่าได้ ดูแลง่าย มีความปลอดภัยสูง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
จึงไม่แปลกที่คอนโดหน้าใหม่จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกับผู้ซื้อมือใหม่อยู่ตลอดเวลาค่ะ
ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผู้อ่านมือใหม่ลองตามติดอสังหา 101 ไปทำความรู้จักเอกสารควรรู้ในขั้นตอนการจองคอนโด หรือที่เรียกว่า “ชุดเอกสารการจอง” เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจก่อนลงสนามจริงกันดีกว่าค่ะ
คอนโดเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินส่วนตัวที่เพิ่มมูลค่าได้ ดูแลง่าย มีความปลอดภัยสูง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
1. ใบจองคอนโด หรือ ใบจองซื้อห้องชุด (Reservation Form) คืออะไร?
คือ หลักฐานทางเอกสาร แสดงถึงการจองหรือล็อคสิทธิ์ห้องชุดไว้เบื้องต้นของผู้ซื้อ โดยวางเงินเป็นหลักประกันและมีรายละเอียดข้อตกลงระหว่างผู้จอง (Buyer) และผู้รับจอง (Developer)
รายละเอียดและข้อตกลงในใบจองซื้อห้องชุด มีใจความดังนี้
- รายละเอียดของผู้จอง เช่น ชื่อ อายุ เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ
- รายละเอียดโครงการและบริษัทเจ้าของโครงการ
- รายละเอียดห้องชุดที่จอง เช่น เลขที่ห้อง จำนวนห้องนอน ชั้น พื้นที่ ราคาห้องชุด และราคาต่อตารางเมตร
- จำนวนเงินจองซื้อห้องชุด และวิธีชำระ โดยจำนวนเงินขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทเจ้าของโครงการ
- กำหนดการทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทเจ้าของโครงการ
เงื่อนไขการชำระงวดอื่นๆ คือ งวดแบ่งจ่ายค่าห้องชุด คิดเป็นเปอร์เซนต์ตามนโยบายของแต่ละบริษัทเจ้าของโครงการ เช่น
งวดจอง 50,000 บาท ในวันลงนามใบจองซื้อห้องชุด
งวดสัญญา 5% ในวันลงนามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด
งวดรายเดือน 10% ตามวันที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด
งวดสุดท้าย 85% ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด
- ข้อตกลงการโอนสิทธิการจองซื้อห้องชุด ต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจอง และค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการจอง
- การยกเลิกการจองห้องชุด หรือไม่สามารถเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ตามกำหนด ผู้จองยินยอมให้ผู้รับจองริบเงินได้และไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ
- เอกสารแนบท้ายใบจองซื้อนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของใบจองซื้อห้องชุดด้วย และจัดทำขึ้นสองฉบับเก็บไว้ฝ่ายละหนึ่งฉบับข้อความถูกต้องตรงกัน
2. ใบเสนอราคาห้องชุด (Quotation) คืออะไร?
คือ เอกสารชี้แจงรายละเอียดห้องชุด ซึ่งระบุตัวเลขทางการเงินที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายห้องชุด และข้อกำหนดของราคา ให้ลูกค้าพิจารณาและทราบเงื่อนไขชัดเจนก่อนการตัดสินใจซื้อห้องชุด
รายละเอียดและข้อตกลงในใบเสนอราคา มีใจความดังนี้
- รายละเอียดโครงการ ชื่อ ที่ตั้ง เบอร์ติดต่อ
- วันที่ออกเอกสาร ซึ่งบางโครงการสัมพันธ์กับกำหนดวันหมดอายุของโปรโมชั่นบางรายการ
- รายละเอียดห้องชุด ชื่อห้อง ชั้น แบบ พื้นที่ ส่วนลด ราคาต่อตารางเมตร และราคาห้องชุดสุทธิ
- รายละเอียดการชำระเงิน เงินจอง เงินทำสัญญา ค่างวดรายเดือน จำนวนเดือนที่ต้องผ่อนจ่าย และเงินงวดสุดท้าย
- ข้อกำหนด คือ เงื่อนไขค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ระยะเวลาการบังคับราคาของเอกสารนี้ รายละเอียดบัญชีของบริษัทเจ้าของโครงการ ราคาเงินกองทุน เงินส่วนกลาง ค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ค่ามิเตอร์ไฟฟ้าและประปา ค่าประกันภัยอาคารชุด
- ข้อมูลบริษัทเจ้าของโครงการ และ ข้อสงวนสิทธิ์ (Disclaimer)
ใบเสนอราคาต้องได้รับการเซ็นยินยอมทั้งสองฝ่ายระหว่างผู้จองและผู้รับจอง เมื่อผู้จองตัดสินใจจองห้องชุดแล้วถือว่าใบเสนอราคาห้องชุดเป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารการจอง
เราสามารถแจ้งขอใบเสนอราคาจากฝ่ายขายโครงการได้มากกว่าหนึ่งห้อง เพื่อเปรียบเทียบห้องชุดก่อนการตัดสินใจค่ะ
3. เอกสารแนบท้ายจองซื้อห้องชุด คืออะไร?
คือ หลักฐานทางเอกสารที่ผู้รับจองให้เงื่อนไขหรือข้อเสนอพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายห้องชุดของผู้จอง
รายละเอียดและข้อตกลงในเอกสารแนบท้ายจองซื้อห้องชุด มีใจความดังนี้
- รายละเอียดของส่วนลด โปรโมชั่น หรือ ของสมนาคุณ
- ข้อตกลงการสงวนสิทธิ์ของผู้รับจองกรณีผู้จองกระทำผิดสัญญาจะซื้อจะขาย
- เงื่อนไขการส่งมอบ
- เงื่อนไขการรับประกัน
บางโครงการอาจรวมข้อมูลในเอกสารแนบท้ายจอง เข้ากับใบจองซื้อห้องชุดหรือใบเสนอราคาตามแต่นโยบายของแต่ละบริษัทฯ ค่ะ
4. แบบผังห้องชุด (Unit Layout) คืออะไร?
หรือแปลนห้อง คือ แผนผังภาพประกอบห้องชุด ซึ่งแสดงการจัดวางพื้นที่ห้องชุดออกเป็นสัดส่วน โดยมีสัญลักษณ์รูปภาพประกอบเพื่อให้ผู้พบเห็นเข้าใจง่าย
ผู้ออกแบบผังห้องชุด คือ บริษัทสถาปนิกผู้รับคอนเซปต์จาก Developer ให้ออกแบบโครงการ ส่วนกลาง และห้องชุด ให้ทุกพื้นที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างลงตัวจากขนาดรูปตึกและมุมอาคาร งานออกแบบได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ และคิดรอบคอบถึงการวางผังงานระบบทั้งหมด แสงธรรมชาติ และทิศทางระบายอากาศ เพื่อท้ายที่สุดให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารและห้องชุดสามารถใช้งานพื้นที่ได้อย่างเกิดประโยชน์ต่อเนื่องในระยะยาวอย่างแท้จริง
หนึ่งโครงการสามารถมีรูปแบบห้องชุดได้มากกว่าหนึ่งประเภท โดยมีความแตกต่างกันที่ขนาดพื้นที่ และตำแหน่งห้องชุด เช่น 1 ห้องนอนแตกต่างกับห้อง สตูดิโอ หรือ ห้องดูเพลกซ์แตกต่างจากห้องลอฟท์
เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียดในห้องชุด ตำแหน่งทางเข้า ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ก็จะสัมพันธ์กับการตกแต่งห้องชุดและเฟอร์นิเจอร์ เช่น ห้องครัวอยู่ตำแหน่งใกล้ทางเข้าเพื่อสะดวกต่อการวางของกินของใช้ ห้องน้ำอยู่ใกล้ห้องครัวเพื่อสะดวกต่องานระบบประปา ห้องนั่งเล่นอยู่แนวเดียวกับห้องนอนเพื่อดื่มด่ำบรรยากาศภายนอกผ่านระเบียงของห้องชุด
Unit Layout มีรายละเอียด ดังนี้
- 1.แผนผังห้องชุด ซึ่งระบุสัญลักษณ์ชื่อห้อง ตำแหน่งชุดครัว ตำแหน่งสุขภัณฑ์ รูปภาพเฟอร์นิเจอร์ซึ่งจำลองการจัดวางจริง รูปภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้ง ลักษณะงานพื้น งานระบบ และงานผนังในห้องชุดและโครงสร้าง
- ตำแหน่งห้องในผังชั้น (Floor Plan)
- ตำแหน่งทิศ ที่เปรียบเข้ากับตำแหน่งห้องชุด
5. แบบฟอร์มข้อมูลลูกค้า (Customer Profile)
คือ เอกสารที่ให้ผู้จองกรอกข้อมูลสำคัญ เพื่อระบุตัวตน และข้อมูลดังกล่าวจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายด้วย
รายละเอียดในแบบฟอร์มข้อมูลลูกค้า เช่น
- ข้อมูลทั่วไป ชื่อสกุล อายุ อีเมล์ หมายเลขโทรศัพท์
- ที่อยู่ตามบัตรประชาชน และเลขที่บัตร
- ที่อยู่ในการจัดส่งเอกสาร
- ผู้ที่สามารถติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน
- แบบสอบถามอื่นๆ เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้า เช่น อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว เหตุผลในการตัดสินใจซื้อ กิจกรรมที่ชื่นชอบ โซเชียลมีเดียที่ใช้ สื่อที่ทราบข่าวสารจากโครงการ
ฝ่ายขายโครงการจะให้ผู้จองกรอกข้อมูลในเอกสารนี้ ภายหลังตัดสินใจจองซื้อห้องชุดแล้ว และแนบเอกสารนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารการจอง โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกระบุใบจองซื้อไปจนถึงสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ…เอกสารควรรู้สำหรับมือใหม่หัดจองคอนโดครั้งแรก ชุดเอกสารการจองมีแค่ 5 อย่างง่ายๆ เท่านี้เองค่ะ ภายหลังจากนี้ไป จะเริ่มเข้าสู่การทำสัญญาจะซื้อจะขาย หน้าตาเอกสารจะแตกต่างออกไป และละเอียดเข้มข้นมากขึ้น มือใหม่วงการอสังหาอย่าลืมศึกษาข้อมูลไว้แต่เนิ่นๆ เช่นกันนะคะ