ผู้อ่านหลายท่านของเราอาจมีคอนโดมิเนียมกันอยู่แล้ว และอีกหลายท่านก็อาจจะกำลังมองหา หรือกำลังจะมาเป็นสมาชิกใหม่ของคอนโดมิเนียมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าถึงความสำคัญของ “การประชุมเจ้าของร่วม” หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า “ประชุมนิติบุคคล” ให้ผู้อ่านได้ทราบกัน
การประชุมเจ้าของร่วม เรามักเรียกกันติดปากว่า “ประชุมนิติบุคคล”
การประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยในคอนโดมิเนียมนั้นมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีความสำคัญหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เริ่มจาก “การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก” การประชุมครั้งนี้ได้มีข้อกฎหมายบังคับไว้อย่างชัดเจนว่า…จะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่ทำการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด ณ กรมที่ดินในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดห้องแรกของโครงการนั้นๆ โดย “ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด” เป็นผู้มีอำนาจในการเรียกประชุมตามพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา 42 โดยมีวาระสำคัญๆ ที่เจ้าของร่วมจะต้องพิจารณาและลงมติรับรองร่วมกันดังนี้
- รายงานผลการดำเนินการฝ่ายจัดการฯในรอบปีที่ผ่านมา เช่น งานด้านการบริหารจัดการ, งานช่าง, งานดูแลความสะอาด, งานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
- การรับรอง/แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเบื้องต้นได้รับการจดทะเบียนขึ้นมาพร้อมกับนิติบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปผู้จัดการนิติบุคคลรายแรกจะเป็นตัวแทนของทางเจ้าของโครงการ (วาระ 2 ปี)
- การรับรองรายงานสถาบันการเงิน, งบประมาณประจำปี และการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี เพื่อศึกษาสถานการณ์บริหารเงินในด้านต่างๆ ของ นิติฯในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่ง พระราชบัญญัติอาคารชุดได้กำหนดเบื้องต้นให้นิติบุคคลอาคารชุดจะต้องแสดงงบประมาณรับจ่ายรายเดือนให้เจ้าของร่วมทราบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน
- การแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด (วาระ 2 ปี) เป็นการคัดเลือกตัวแทนของเจ้าของร่วมจากเจ้าของร่วมทั้งหมดภายในอาคารชุดนั้นๆ เพื่อมาควบคุมและกำกับดูแลการบริหารงานของนิติฯที่เราจ้างมา ซึ่งจะกำหนดจำนวนไว้ไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 9 คน
- การพิจารณาเรื่องอื่นๆ ในหัวข้อนี้ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว คือ จะมีหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าของร่วมได้เข้าพักอาศัยแล้ว ทั้งนี้เจ้าของร่วมสามารถนำขึ้นมาเป็นข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารงานของนิติบุคคลต่อไปในอนาคตได้
- การรับรองข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเนื้อหาหลักโดยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามมาตราต่างๆ ในพระราชบัญญัติอาคารชุดอยู่แล้วแต่อาจมีบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมหรือเจตนารมของทางเจ้าของโครงการที่วางไว้ เช่น อัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลาง, อัตราเงินกองทุน หรือรอบการเรียกเก็บค่าส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่าข้อบังคับดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดินแล้ว เจ้าของร่วมก็ควรศึกษาเนื้อหาโดยละเอียดอีกครั้งก่อนที่จะพิจารณารับรองในที่ประชุม
- การรับรองระเบียบพักอาศัยของนิติบุคคลอาคารชุดโดยทั่วไประเบียบการพักอาศัยจะกำหนดให้สอดคล้องกับรูปแบบความเป็นอยู่ของคอนโดนั้นๆ เป็นการภายใน เพื่อให้ผู้พักอาศัยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งหากเจ้าของร่วมศึกษาระเบียบข้อใดๆ แล้วมีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นก็สามารถเสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนได้ เช่น เวลาเปิด-ปิดของสระว่ายน้ำ หรือห้องออกกำลังกาย ซึ่งมักพบว่าจะมีการแก้ไขอยู่บ่อยครั้งหลังจากที่เริ่มมีผู้เข้าพักอาศัยแล้ว
ซึ่งโดยทั่วไปในการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกนี้จะมีนิติบุคคลอาคารชุดที่เป็นบริษัทในเครือของเจ้าของโครงการ หรือบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการเข้ามาบริหารงานเป็นไม้แรกเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมขึ้น โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดการประชุมในครั้งนี้ก็มักจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของโครงการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของร่วม
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี
หลังจากที่การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกได้ผ่านไปแล้ว…การประชุมที่สำคัญอีกหนึ่งประชุมที่ถูกกำหนดให้จัดขึ้นปีละครั้งก็คือ “การประชุมใหญ่สามัญประจำปี” ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา 42/1 นั่นเอง โดยกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจในการเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีในครั้งนี้ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่สิ้นปีทางบัญชี
การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกจะมีนิติบุคคลอาคารชุดของเจ้าของโครงการ เข้ามาบริหารงาน
การประชุมใหญ่วิสามัญ
นอกจากนี้ยังมีการประชุมอีกประเภทหนึ่งที่มิต้องมีกำหนดระยะเวลาตายตัว แต่สามารถจัดให้มีขึ้นได้เมื่อมีเหตุจำเป็น นั่นก็คือ “การประชุมใหญ่วิสามัญ” ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา 42/2 โดยผู้มีอำนาจในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญนี้จะมีอยู่ 3 กลุ่มคือ ผู้จัดการ, คณะกรรมการ (ด้วยมติเกินกว่ากึ่งหนึ่ง” หรือ เจ้าของร่วม (ลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20) ทำหนังสือขอเปิดประชุมต่อคณะกรรมการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน
การประชุมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีความสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมของเจ้าของร่วมทั้งสิ้น ดังนั้นผู้เขียน จึงอยากแนะนำให้ผู้อ่านซึ่งเป็นเจ้าของร่วมได้เข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้และพิจารณารายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ด้วยตนเอง หรือหากไม่สะดวกจริงๆ ก็สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนไปร่วมประชุมแทนได้ โดยทางนิติบุคคลอาคารชุดจะมีแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจจัดเตรียมไว้ให้พร้อมกับหนังสือเชิญประชุมที่จัดส่งให้กับเจ้าของร่วมก่อนที่จะมีการประชุมในแต่ละครั้ง