Property 101 Thailand

ขั้นตอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าและโอนเงินประกัน ต้องทำอย่างไร?

www.unsplash.com

หลังจากเราโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมกับโครงการเสร็จสิ้นแล้วนั้น ชื่อหลังโฉนดห้องชุดก็กลายเป็นเป็นชื่อเราในนามผู้ซื้อหรือเจ้าของห้องชุด แต่ความเรียบร้อยยังไม่หมดเท่านี้ค่ะ อย่าลืม! ว่าเราต้องไปเปลี่ยนชื่อผู้ใช้มิเตอร์ไฟฟ้ากันด้วยนะคะ

ใครที่ซื้อคอนโดพร้อมอยู่ก็จะสบายหน่อย ไม่ต้องไปทำเรื่องเองให้ยุ่งยากแต่อย่างใด เพราะ Developer จะทำเรื่องติดตั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานให้

ไฟบ้าน VS ไฟคอนโด?

คุยกันง่ายๆ ก็คือ บ้านทุกหลังต้องใช้ไฟแบบบ้านใครบ้านมัน ถึงเวลาตัดรอบ ก็ไปจ่ายบิลการไฟฟ้าที่ร้านสะดวกซื้อหรือจ่ายผ่านแอพฯ กันเป็นเรื่องปกติ คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดก็เช่นเดียวกันค่ะ ไฟฟ้าแต่ละห้องแยกหม้อมิเตอร์ (เครื่องวัด) ออกจากกันโดยเด็ดขาด เวลาใช้ไฟก็ไม่ต่างจากไฟบ้านทั่วๆ ไปค่ะ ถึงเวลาบิลค่าไฟรายเดือนก็จะมาส่งถึงตู้จดหมายแต่ละห้องชุด และเจ้าของห้องชุดก็แยกกันจ่ายไป ใครเบี้ยวไม่จ่าย ห้องชุดนั้นๆ ก็โดนการไฟฟ้าตัดไฟเช่นกันค่ะ

ส่วนขนาดไฟครัวเรือนที่ใช้เป็นไปตามความเหมาะสมของการใช้จริง และขนาดพื้นที่ค่ะ

ใครดำเนินการ?

หากใครเคยสร้างบ้านเอง คงทราบว่าเจ้าของบ้านต้องไปดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยตนเองทุกอย่างตั้งแต่ยื่นเรื่องขอติดตั้งการใช้ไฟใหม่ ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า มิเตอร์ชั่วคราว ฯลฯ สารพัดขั้นตอนที่แสนจะปวดหัว

แต่ถ้าสำหรับใครที่ซื้อคอนโดพร้อมอยู่ก็จะสบายหน่อย ไม่ต้องไปทำเรื่องเองให้ยุ่งยากแต่อย่างใด เพราะ Developer จะทำเรื่องติดตั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ทั้งโครงการ ดังนั้น การขอติดตั้งเครื่องวัดหรือหม้อมิเตอร์ไฟจะดำเนินการตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง เพื่อความสะดวกในงานระบบ การเดินสาย ตำแหน่ง ดีไซน์ เรียกได้ว่า ลูกค้าย้ายเข้ามาอยู่ก็พร้อมใช้ได้ทันที

www.unsplash.com

เรื่องน่ารู้ คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับมิเตอร์ไฟเป็นค่าใช้จ่ายตามจริง ทั้งมิเตอร์ไฟและเงินประกัน (ปัจจุบันนี้ไม่มีการประกันมิเตอร์แล้วนะคะ) ซึ่งจ่ายให้กับการไฟฟ้าเพราะถือว่าเป็นสมบัติของภาครัฐ โดยทาง Developer จะเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ก่อนในระหว่างทำเรื่องกับการไฟฟ้า และภายหลังจากนั้นจะเรียกเก็บกับลูกค้า รวมในค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์ทีเดียว

นอกจาก Developer จะเดินเรื่องติดตั้งไฟฟ้าให้แล้วนั้น ภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเสร็จสิ้น ทาง Developer จะบริการยื่นขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้มิเตอร์ให้ถูกต้องตามผู้ใช้จริงหรือลูกค้าเจ้าของห้องชุดให้ด้วยค่ะ

ดังนั้นหน้าที่ของลูกค้าในฐานะเจ้าของห้อง คือ ชำระค่าใช้จ่ายตามที่โครงการเรียกเก็บ และจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามที่โครงการแจ้ง เพื่อให้การเปลี่ยนชื่อเป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ

แล้วกรณี Resale ห้องชุดล่ะ ใครดำเนินการ?

แน่นอนค่ะ ว่าสถานะเราไม่ต่างกับสมัย Developer หรือผู้ขายดีๆ นั่นเอง ดังนั้นกระบวนการดูแลลูกค้าผู้ซื้อของเราเป็นไปอย่างดี เราต้องไปดำเนินการโอนเปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้าให้ด้วยไม่ต่างกัน ภายหลังโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองเสร็จสิ้น

เอกสารที่ใช้ มีอะไรบ้าง?

1. สำเนาทะเบียนบ้านที่ติดตั้งการใช้มิเตอร์ไฟฟ้า (สำเนาทะเบียนบ้านของห้องชุดที่เราซื้อขายกัน)
2. สำเนาสัญญาซื้อขาย (อช.23 ที่ได้รับจากสำนักงานที่ดิน)
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้รับโอน (ลูกค้าผู้ซื้อ) อย่างละ 1 ฉบับ
4. สำเนาเอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล (กรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล)
5. หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการ)
6. สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการ)
7. ใบเสร็จค่าไฟฟ้าเดือนสุดท้ายหรือเดือนใดก็ได้
8. แบบฟอร์มขอเปลี่ยนผู้ใช้ไฟฟ้า https://www.mea.or.th/form/edituser

www.unsplash.com

สถานที่ติดต่อ

เราสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง หรือ ภูมิภาค สาขาย่อยต่างๆ ตามพื้นที่ที่คอนโดมิเนียมของเราสังกัดอยู่
ซึ่งเคาน์เตอร์บริการจะแยกส่วนกับเคาน์เตอร์ชำระค่าไฟปกติ หากใครไปติดต่อเอง สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของแต่ละสาขาได้เลยค่ะ

โครงการจะเรียกเก็บคืนตามจริงกับลูกค้าเจ้าของห้องชุด ทั้ง 2 ส่วน คือ เครื่องมิเตอร์ไฟ และเงินประกัน

ระยะเวลา

หากเราเตรียมเอกสารครบ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วไม่เกิน 30 นาที เพื่อดำเนินการเปลี่ยนข้อมูลในระบบ และออกสัญญาไฟฟ้าฉบับผู้ซื้อใหม่ให้ด้วย เป็นอันจบกระบวนการค่ะ

แล้วเงินประกันมิเตอร์ได้คืนหรือไม่?

ในปัจจุบัน ทางภาครัฐยกเลิกการวางเงินประกันแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีการชำระในส่วนนี้อีกต่อไป แต่อย่างไรแล้ว ทางผู้เขียนขอเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งยังมีเงินประกันมาเกี่ยวข้อง ว่ามีขั้นตอนกันมาอย่างไร เพื่อให้เป็นความรู้กันต่อไปค่ะ

กรณีซื้อขายห้องมือหนึ่งกับ Developer ทางโครงการจะเรียกเก็บคืนตามจริงกับลูกค้าเจ้าของห้องชุด ทั้ง 2 ส่วน คือ เครื่องมิเตอร์ไฟ และเงินประกัน

เอกสารที่เราจะได้รับ คือ ใบเสร็จค่ามิเตอร์ไฟจากโครงการ และใบเสร็จเงินประกันจากการไฟฟ้า โดยเราจะต้องเก็บเอกสารทั้ง 2 อย่างนี้ไว้เป็นอย่างดี เพื่อใช้อ้างอิงธุรกรรมอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องต่อไป

กรณีที่เรา Resale ห้องชุดกับผู้ซื้อใหม่ เราสามารถรวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปในราคาซื้อขายบวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเงินก้อนเดียวก็ได้ หรือ ขอเรียกชำระแยกต่างหากก็ได้ ประหนึ่งเหมือนขั้นตอนการซื้อมือหนึ่งกับโครงการ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกันตามที่สะดวกระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเองค่ะ

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ เจ้าของห้องชุดคนเก่าต้องส่งต่อสัญญาไฟฟ้าใหม่ และใบเสร็จเงินประกันให้ผู้ซื้อใหม่ถือครองต่อไปนะคะ

แต่หากกรณีต้องการเงินประกันคืนจากการไฟฟ้านั้น มีเพียงกรณีเดียวคือยกเลิกการใช้ไฟและหม้อมิเตอร์นี้ จึงจะได้รับเงินคืน โดยมีใบเสร็จเงินประกันเป็นหลักฐานที่ต้องยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ค่ะ

ขั้นตอนโดยรวมไม่ยุ่งยาก แค่เตรียมพร้อมเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย การซื้อขายคอนโดมิเนียมเป็นเรื่องง่ายๆ เท่านี้เองค่ะ