fbpx

ตรวจคอนโดครั้งแรก ไม่ยากอย่างที่คิด

6.00 min. Read

หากใครที่ตัดสินใจซื้อคอนโดซักที่หนึ่ง และผ่านพ้นขั้นตอนการจอง การทำสัญญาจะซื้อจะขายคอนโดเรียบร้อยแล้วนั้น ขอให้ท่านเตรียมตัวให้พร้อม รอโครงการส่งสัญญาณว่าห้องชุดของท่านพร้อมแล้ว…แล้วเราไปลุยตรวจห้องกันเลยค่ะ

การตรวจห้องชุดคอนโด ก็เหมือนการตรวจคุณภาพสินค้าที่เราเพิ่งจะซื้อมาใหม่ๆ ก่อนจะจ่ายเงินเวลาซื้อของตามห้างเลยค่ะ เพียงแต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะบ้านเป็นที่อยู่อาศัย มีหลายอย่างที่ต้องตรวจละเอียดและทดสอบการใช้งานร่วมด้วย หากตรวจพลาดจุดใดไป อาจจะกระทบกับการใช้ชีวิตในบ้าน เอะอะซ่อม เอะอะพังเหมือนที่เราเห็นตามข่าวบ่อยๆ ว่า “พังก่อนอยู่” …ไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบนั้นเลยใช่มั้ยคะ ไม่ว่าบ้านราคาเท่าไหร่ ต่างก็เป็นของรักของหวงของทุกคนเช่นกัน

ตรวจบ้านหรือตรวจคอนโด ฟังเผินๆ เราอาจเข้าใจว่าต้องเรียนจบวิศวะ มีความรู้วิชาช่าง หรือต้องเป็นผู้ชายน่าจะถนัดกว่า ดูแล้วเหมือนเรื่องไกลตัวที่เราไม่ชำนาญเท่าไหร่นัก แต่ความจริงแล้วขั้นตอนการตรวจคอนโดหรือห้องชุด ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิดไว้เลยค่ะ ไม่ว่าราคาเท่าไหร่ ก็มีหลักการตรวจพื้นฐานไม่ต่างกัน

แต่ก่อนอื่นใดนั้น อสังหา 101 ขอจัดลำดับไล่เรียงเหตุการณ์ซักเล็กน้อย ว่ากระบวนการกว่าจะได้เข้าตรวจห้องตรวจคอนโดนั้น แท้จริงแล้วมันมีเส้นทางมายังไง ให้เข้าใจภาพรวมกันก่อนค่ะ

กระบวนการเชิญตรวจห้องชุด

1. จดหมายเชิญตรวจรับมอบห้องชุด 

สิ่งที่จะมาถึงเราในลำดับแรกเลยก็คือ “จดหมายเชิญตรวจรับมอบห้องชุด”  ส่งไปยังที่อยู่จัดส่งเอกสารของเรา ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีว่าโครงการและห้องชุดของเราสร้างเสร็จแล้ว พร้อมให้เข้าชมงาน ดูสภาพ ตรวจความเรียบร้อย เพื่อที่จะก้าวไปสู่การโอนกรรมสิทธิ์ในขั้นตอนถัดไปได้

ใจความสำคัญของจดหมาย คือ วันและเวลาที่เราจะต้องไปตรวจรับมอบห้องชุด แน่นอนค่ะ ว่าเราก็อย่าลืมติดต่อโครงการกลับ เพื่อยืนยันวันนัดหมายตรวจคอนโดตามที่เราสะดวกนะคะ

2. สัญญาจะซื้อจะขายฯ

สิ่งแรกที่เราจะต้องทำหลังจากได้จดหมาย คือ กลับไปอ่านสัญญาจะซื้อจะขายอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าห้องชุดที่เราซื้อนั้น ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เช่น 

        • ห้อง Standard มาตรฐานโครงการแบบห้องเปล่าเท่านั้น หรือ 
        • ห้อง Fully Fitted ที่มีเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน เช่น ชุดครัว ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางทีวี ฯลฯ หรือ 
        • ห้อง Fully Furnished ที่ได้ครบทุกอย่าง มีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว โต๊ะ ตู้ เตียง เครื่องซักผ้า ฯลฯ ชนิดที่ว่าย้ายตัวมาอยู่ได้เลย 

เมื่อเรารู้ส่วนประกอบต่างๆ ของห้องแล้วนั้น เราจะสามารถเตรียมตัวได้ถูกต้อง และไม่พลาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปตั้งแต่เริ่มต้นค่ะ

3. แบบผังห้องชุด

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องดูถัดไปคือ “แบบผังห้องชุด (Unit Layout)” เพื่อจะได้ทราบว่าหน้าตาห้องตอนที่เราซื้อ กับตอนที่สร้างเสร็จแล้ว ออกมาเหมือนกัน มีตำแหน่งใดผิดเพี้ยนไปหรือไม่ อสังหา 101 แนะนำว่าเราควรนำผังห้องและทำ check list สั้นๆ ติดตัวไปด้วยเพื่อไล่ดูระหว่างตรวจห้องค่ะ

standard unit

สำหรับวันตรวจคอนโดครั้งแรกนั้น Developer ชั้นนำค่ายใหญ่ๆของไทย จะมีขั้นตอนการต้อนรับลูกค้าอย่างเป็นมาตรฐานที่ดีพอตัวเลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 1. เจ้าหน้าที่โครงการจะเสนอ “รายงานการตรวจห้องชุด (Inspection Form)” ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันว่าเจ้าของห้องชุดได้เข้าตรวจสภาพห้องและพบรายการชำรุด ไม่เรียบร้อย ต้องได้รับการแก้ไขจากโครงการมีอะไรบ้าง ที่สำคัญคือ เราต้องเซ็นยืนยันเอกสารนี้ภายหลังตรวจคอนโดเสร็จแล้วค่ะ

ดังนั้น เราควรอ่านข้อความในเอกสารอย่างละเอียด และไม่ควรเซ็นชื่อหากยังมีข้อสงสัย สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนถึงจำนวนครั้งที่ให้ตรวจงานได้ บางโครงการจำกัดแค่ครั้งถึงสองครั้ง หรือบางโครงการสามารถตรวจได้จนกว่างานจะเรียบร้อยจริงๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีข้อถกเถียงกับทางโครงการในภายหลัง หากห้องชุดยังไม่พร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ค่ะ

บ้านเป็นที่อยู่อาศัย มีหลายอย่างที่ต้องตรวจละเอียดและทดสอบการใช้งานร่วมด้วย

ขั้นตอนที่ 2. ช่วงเวลาตรวจห้องจริง อสังหา 101 ขอแชร์เทคนิคส่วนตัว…“วิธีตรวจคอนโดแบบกันพลาด” ให้ไปลองดูกันนะคะ

ลำดับแรก…ตรวจสอบเลขที่ห้องชุดว่าใช่ห้องของเราหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่พาเรามาไม่ผิดห้อง กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงแน่นอนค่ะ เนื่องจากห้องชุดต่อชั้นมีจำนวนมาก หน้าตาคล้ายๆกันอีก เจอเจ้าหน้าที่มือใหม่เข้าไป พาหลงเดินไปเดินมาหลายรอบทีเดียวค่ะ

ลำดับที่ 2…ตรวจสอบแบบผังห้อง (Unit Layout) ว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ห้องตามแบบแปลนที่ซื้อไว้จริงๆ ไม่ผิดเพี้ยน  

ลำดับที่ 3…เริ่มตรวจห้องอย่างเป็นระเบียบ ไม่เดินกวักไกว่ ไปทางนู่นทางนี้ที แต่ให้เริ่มจากห้องที่อยู่ลึกด้านในสุดก่อน แล้วค่อยๆ ถอยร่นออกมายังห้องอื่นๆ ภายนอก กล่าวคือ หน้าประตูห้องจะตรวจเป็นโซนสุดท้ายค่ะ จำง่ายๆ ว่าเหมือนการถูพื้นบ้าน เพื่อให้เราไม่หลงลืมพื้นที่ไหนไป…สำหรับการตรวจห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัว ให้ตรวจในส่วนของห้องน้ำก่อน โดยเริ่มจากพื้นที่เปียกหรือโซนอาบน้ำ เพื่อทดสอบสโลปพื้นและการระบายน้ำ

ลำดับที่ 4…การตรวจแต่ละห้องนั้น ควรเริ่มตรวจจากจุดที่อยู่สูงที่สุด หรือฝ้าเพดานก่อน ค่อยไล่ลงมาที่ผนัง ประตู หน้าต่าง รวมถึงอุปกรณ์ที่อยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด เช่น สวิตช์ ปลั๊กไฟ ปลั๊กโทรศัพท์ ปลั๊กโทรทัศน์  ซึ่งอุปกรณ์ทดสอบระบบเหล่านี้ สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่โครงการนำมาใช้และแสดงผลการทดสอบให้เราดูได้เลยค่ะ สุดท้ายจึงมาจบที่บริเวณพื้นห้อง

ลำดับสุดท้าย…หากห้องที่เราซื้อรวมชุดเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เครื่องใช้ไฟฟ้าชุดครัว…เราจะตรวจเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้หลังจากที่ตรวจพื้นห้องเรียบร้อยแล้วค่ะ

สรุปเป็นทริคให้จำง่ายๆ ก็คือ “ตรวจจากด้านในออกด้านนอก” พออยู่ในห้อง “ให้ตรวจจากบนลงล่าง” แล้วจึง “ตรวจเฟอร์นิเจอร์ในห้องนั้นๆ เป็นลำดับสุดท้าย” เสร็จแล้วจึงค่อยย้ายไปตรวจห้องอื่นต่อไปนะคะ

standard unit

ขั้นตอนที่ 3 ในระหว่างที่เราตรวจห้อง แล้วพบรายการชำรุดไม่เรียบร้อย และต้องการให้โครงการแก้ไข ให้เราแจ้งให้เจ้าหน้าที่โครงการจดบันทึกลงในใบรายการทั้งหมด รวมถึงทำสัญลักษณ์ไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้สามารถเห็นจุดบกพร่องได้ชัดเจน 

ที่สำคัญก่อนจะย้ายห้องหรือย้ายพื้นที่ตรวจ ให้เราทวนรายการที่ต้องได้รับการแก้ไขกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่าครบตามที่เราแจ้งหรือไม่ค่ะ

ขั้นตอนที่ 4 เมื่อเราตรวจห้องชุดครบทุกพื้นที่เสร็จสิ้นแล้วนั้น…ให้เราตรวจทานรายการแก้ไขอีกครั้ง พร้อมสอบถามถึงระยะเวลาในการแก้ไข และกำหนดตรวจรับงานซ่อมได้ในครั้งต่อไป ก่อนที่จะเซ็นชื่อในเอกสารค่ะ

หากพบว่ายังคงมีรายการแก้ไขอยู่ ไม่แนะนำให้เราเซ็น “เอกสารรับมอบห้องชุด” หรือเอกสารที่ระบุว่างานแก้ไขเสร็จสิ้นมีสภาพเรียบร้อย พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามวันที่กำหนด แต่อย่างใดนะคะ เรามักเจอเคสเช่นนี้บ่อยสำหรับห้องเร่งงานเพื่อโอนให้ทันกำหนด หรือที่เรียกว่า ห้องโอนก่อนเก็บทีหลัง 

แนะนำว่าให้เรามั่นใจว่ารายการแก้ไขเสร็จเรียบร้อยครบถ้วนแล้วเท่านั้น จึงจะเซ็นรับห้อง เพื่อป้องกันปัญหาและไม่ปวดหัวกับการตามช่างภายหลังค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ…เส้นทางการตรวจห้องไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ หากสภาพห้องเรียบร้อยดีแล้วนั้น เราก็เดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้อย่างสบายใจแล้วค่ะ




Copy link