เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด ของผู้ซื้อสถานะต่างๆ
การซื้อคอนโดมิเนียม ถือเป็นทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์ชิ้นใหญ่ ที่ต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างกว่าจะเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แบบ ทั้งเตรียมเงินและเตรียมเอกสาร โดยเฉพาะเอกสารที่ต้องใช้ยื่นแสดงต่อหน่วยงานราชการประเทศไทยนั้น ต้องถูกต้องครบถ้วน ใครเตรียมขาดๆ เกินๆ ขึ้นมา อาจจะโดนเจ้าหน้าที่ตีกลับได้ง่ายๆ เลยนะคะ
การเตรียมพร้อมเรื่องเอกสารเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ควรผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาและไม่เสียฤกษ์โอนบ้าน
หลักเกณฑ์การเตรียมเอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด จะใช้สถานภาพส่วนบุคคลของผู้ซื้อเป็นหลัก ซึ่งสามารถจำแนกได้หลายประเภท อสังหา 101 จึงขอแจกแจงเอกสารท่ีต้องใช้จัดเตรียมตามสถานะต่างๆ ของผู้ซื้อคอนโดมิเนียม ได้ดังนี้
สถานภาพโสด
คือ ผู้ที่ยังไม่เคยสมรสแบบจดทะเบียน
กรณีแจ้งโสดนิยมมากที่สุดในการซื้อขายคอนโดทั่วๆ ไป เพราะ ผู้ซื้อถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนเดียว ข้อดีเด่นชัด คือ ใช้เอกสารแสดงตัวตนน้อย คล่องตัวกว่าประเภทอื่นๆ
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ)
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
สำหรับกรณีผู้ซื้อที่ต้องการซื้อและถือกรรมสิทธิ์คนเดียว แต่มีคู่ครองอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา อาจเคยจัดแต่งงานแต่ไม่ได้แจ้งจดทะเบียนสมรสมาก่อน มีบุตรหรือไม่ก็ตาม จะจัดอยู่ในประเภทใด? คำตอบ คือ สถานภาพโสดตามกฎหมายค่ะ
หรือ กรณีผู้ซื้อมีบุตรแล้ว แต่ไม่เคยแจ้งจดทะเบียนสมรส และไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา เลิกรากับคู่ครองไปแล้ว ก็จัดว่าอยู่ในสถานภาพโสดตามกฎหมายเช่นกันค่ะ
สถานภาพสมรส (กรรมสิทธิ์ร่วม 2 ท่าน)
คือ ผู้ที่อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ในครอบครัวเดียวกัน และจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีแจ้งสมรสพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองซื้อคอนโดให้บุตรหลาน หรือซื้อเป็นทรัพย์สินให้ครอบครัว โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงซื้อร่วมกัน มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คอนโดแห่งนี้ทั้งคู่ร่วมกัน และถือว่าเป็นสินสมรสค่ะ
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) ของ 2 ท่าน
2.สำเนาทะเบียนบ้าน ของ 2 ท่าน
3.สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
4.สำเนาทะเบียนสมรส
สถานภาพสมรสไม่จดทะเบียน (กรรมสิทธิ์ร่วม 2 ท่าน)
คือ ผู้ที่อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ในครอบครัวเดียวกัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ปัจจุบันนี้มีหลายๆ คู่สมรส เลือกที่จะไม่จดทะเบียนด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรือความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย กรณีเช่นนี้พบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะหากผู้ซื้อทั้ง 2 ท่านต้องการกู้สินเชื่อธนาคาร เพราะธนาคารจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้กู้อย่างละเอียดและเข้มข้นมาก หากใช้เครดิตของทั้งสองฝ่ายช่วยกันกู้เพื่อสนับสนุนวงเงินอนุมัติให้ผ่านหรือวงเงินสูงขึ้น ก็จำเป็นต้องแจ้งสมรสไม่จดทะเบียน พ่วงด้วยเอกสารประกอบที่มากขึ้น และตกลงถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม 2 ท่าน
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) ของ 2 ท่าน
2.สำเนาทะเบียนบ้าน ของ 2 ท่าน
3.สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
4.หนังสือยินยอมคู่สมรส ลงนามทั้ง 2 ท่าน
ผู้ซื้อต้องแจ้งสถานภาพนี้แก่เจ้าหน้าที่โครงการด้วยเสมอ เพื่อโครงการจะแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน และประทับตราหลังเอกสารราชการว่าเป็นทรัพย์สินสมรสไม่จดทะเบียน มีผลการแบ่งแยกทรัพย์สินภายหลังกรณีหย่าร้างเกิดขึ้น
สถานภาพสมรส (กรรมสิทธิ์ 1 คน)
คือ ผู้ซื้อที่มีคู่สมรส อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ในครอบครัวเดียวกัน จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือคอนโดนี้เพียงฝ่ายเดียว
กรณีนี้พบเห็นสำหรับคู่สมรสที่ตกลงซื้อคอนโด โดยฝ่ายหนึ่งยินยอมให้กรรมสิทธิ์คอนโดเป็นทรัพย์สินของอีกฝ่ายแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่ใช่การแอบซื้อแต่อย่างใดนะคะ เพราะมีการเซ็นเอกสารยินยอมรับทราบการซื้อขายนี้จากอีกฝ่ายเพิ่มขึ้นมา ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของผู้ถือกรรมสิทธิ์ค่ะ
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) ของผู้ซื้อที่ถือกรรมสิทธิ์
2.สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้ซื้อที่ถือกรรมสิทธิ์
3.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) ของคู่สมรสที่ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์
4.สำเนาทะเบียนบ้าน ของคู่สมรสที่ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์
5.สำเนาทะเบียนสมรส
6.หนังสือรับรองสินส่วนตัว
7.สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
วิธีการซื้อตอนโดของต่างชาติทำอย่างไร Property 101 มีคำตอบให้คุณ!
สถานภาพไม่ใช่คู่สมรส (กรรมสิทธิ์ร่วม 2 ท่านหรือมากกว่า)
คือ ผู้ซื้อห้องชุดหรือคอนโด ที่ถือกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของร่วมกัน 2 คนหรือมากกว่านั้น ซึ่งผู้ซื้อแต่ละท่านอาจมีสถานภาพโสด สมรส หรือสถานภาพอื่นๆ แตกต่างกันไปได้
กรณีซื้อกรรมสิทธิ์ร่วมกันเช่นนี้ ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทางเครือญาติทั้งหมด เช่น บิดา-บุตร โดยพ่อมีสถานะสมรส และลูกมีสถานะโสด (บรรลุนิติภาวะแล้ว) หรือความสัมพันธ์แบบพี่น้องซื้อร่วมกันก็ได้ แต่หากไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือดกันแต่อย่างใด เช่น กลุ่ม LGBT อาจเข้าข่ายไม่อนุมัติการกู้บ้านร่วมจากสถาบันการเงินได้ แต่อย่างไรก็เป็นไปตามเกณฑ์พิจารณาของธนาคาร ซึ่งอาจจะมีกฎลดหย่อนเป็นกรณีพิเศษก็ได้ค่ะ หรือ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอาจเรียกสอบถามข้อมูลเพิ่มสำหรับผู้ซื้อเงินสดค่ะ
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) ของแต่ละท่าน
2.สำเนาทะเบียนบ้าน ของแต่ละท่าน
3.สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
4.สำเนาทะเบียนสมรส ของท่านที่มีสถานภาพสมรส
5.หนังสือยินยอมคู่สมรส หรือ หนังสือรับรองสินส่วนตัว ของท่านที่มีสถานภาพสมรส
6.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ) ของคู่สมรส สำหรับท่านที่มีสถานภาพสมรส
7.สำเนาทะเบียนบ้าน ของคู่สมรส สำหรับท่านที่มีสถานภาพสมรส
8.สำเนาทะเบียนหย่า ของท่านที่มีสถานภาพหย่า
9.สำเนาใบมรณะบัตร ของท่านที่มีสถานภาพหม้าย
อสังหา 101 มองว่าการเตรียมพร้อมเรื่องเอกสารส่วนตัวของเรา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ยิ่งต้องดีลกับหน่วยงานราชการของประเทศไทย ควรผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาและไม่เสียฤกษ์โอนบ้านนะคะ
เอกสารที่ต้องใช้ยื่นแสดงต่อหน่วยงานราชการประเทศไทยนั้น ต้องถูกต้องครบถ้วน ใครเตรียมขาดๆ เกินๆ ขึ้นมา อาจจะโดนเจ้าหน้าที่ตีกลับได้ง่ายๆ
สถานภาพหย่าร้าง
คือ สามีภรรยาที่เคยสมรสกัน และจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันเลิกร้างไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาและจดทะเบียนหย่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กรณีเช่นนี้ อดีตคู่สมรสไม่จำเป็นต้องลงนามเอกสารใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ สำหรับผู้ซื้อฝ่ายหญิงที่เปลี่ยนคำนำหน้ากลับมาเป็น “นางสาว” และกลับมาใช้นามสกุลเดิมเรียบร้อยแล้วนั้น ก็ยังจำเป็นต้องแจ้งสถานภาพนี้ต่อเจ้าหน้าที่เช่นกัน เพราะหน่วยงานราชการจะสามารถค้นประวัติบุคคลได้จากระบบ หากเจอข้อมูลใดขัดแย้งอาจจะเสียเวลาโดนสอบและเรียกเก็บเอกสารเช่นเดิมค่ะ
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ยังไม่หมดอายุ)
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.ใบสำคัญการหย่า
สถานภาพหม้าย
คือ ผู้ที่คู่สมรสได้เสียชีวิตไปแล้ว และปัจจุบันยังไม่ได้สมรสใหม่แต่อย่างใด
เอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด มีดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน (ที่ยังไม่หมดอายุ)
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.ใบมรณะบัตรของอดีตคู่สมรส
ข้อควรระวัง คือ สำเนาเอกสารต้องเห็นใบหน้า ตัวอักษร ตัวเลข ต้องชัดเจน รวมทั้งการลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง ต้องเหมือนกันทุกเอกสารเท่านั้นค่ะ
เราควรจัดเตรียมเอกสารดังกล่าวเหล่านี้ให้พร้อม และนำส่งให้เจ้าหน้าที่โครงการก่อนล่วงหน้า เพื่อเจ้าหน้าที่จะนำไปใช้จัดทำเอกสารราชการอื่นๆ เช่น หนังสือมอบอำนาจซื้อกรณีมอบหมายบุคคลอื่นไปดำเนินการ หนังสือยินยอมคู่สมรส หนังสือรับรองสินส่วนตัว ฯลฯ
อสังหา 101 มองว่าการเตรียมพร้อมเรื่องเอกสารส่วนตัวของเรา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ยิ่งต้องดีลกับหน่วยงานราชการของประเทศไทย ควรผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาและไม่เสียฤกษ์โอนบ้านนะคะ